วศ. เดินหน้าร่าง มอก. สารสกัดใบกระท่อม

พืชกระท่อม เป็นสมุนไพรที่ถูกกล่าวถึงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศในขณะนี้ เนื่องจากพืชกระท่อมได้ถูกปลดออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ภายใต้ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยอนุญาตให้สามารถครอบครองและซื้อขายได้อย่างเสรีอย่างไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไป พืชกระท่อมมีประวัติการนำมาใช้ประโยชน์อย่างยาวนาน ชาวบ้านทั่วไปจะทราบกันดีว่าเมื่อเคี้ยวใบสดของกระท่อมจะช่วยให้ไม่เหนื่อยง่าย และทนแดดได้นาน โดยเฉพาะในแถบภาคใต้ซึ่งนิยมใช้ในกลุ่มอาชีพผู้ใช้แรงงานและเกษตรกร

แต่ในความเป็นจริงแล้วใบกระท่อมยังมีสรรพคุณทางยาอีกมากมาย ดังเช่นในตำรายาไทยและการใช้ของหมอพื้นบ้านพบว่าใบกระท่อมมีสรรพคุณใช้ระงับอาการผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง บิด ท้องร่วง ฯลฯ ระงับอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ระงับประสาท รักษาโรคกระเพาะอาหาร รักษาโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคผิวหนัง เป็นต้น โดยสารสำคัญกลุ่มใหญ่ที่พบ คือ สารกลุ่มอัลคาลอยด์ (Alkaloids) ซึ่งสารสำคัญหลักที่พบมากที่สุดคือ ไมทราไจนีน (Mitragynine) นอกจากนี้ยังพบอัลคาลอยด์ตัวอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น สเปซิโอไจนีน (Speciogynine) เพแนนเทอีน (Paynantheine) สเปซิโอซีเลียทีน (Speciociliatine) และ 7-ไฮดรอกซีไมทราไจนีน (7-hydroxy-mitragynine) เป็นต้น.

พืชกระท่อมที่พบในประเทศไทยมีอยู่หลายสายพันธุ์ แบ่งตามลักษณะภายนอก ได้แก่ ก้านใบสีแดง ก้านใบสีเขียว (อาจเรียกแตงกวา) และยักษ์ใหญ่ (มีรอยหยักบริเวณปลายใบคล้ายเขี้ยว) โดยชาวบ้านเชื่อว่ากระท่อมทั้ง 3 สายพันธุ์ออกฤทธิ์ได้ต่างกัน กล่าวคือลักษณะใบแบบหางกั้งจะมีประสิทธิภาพออกฤทธิ์ต่อร่างกายมากกว่าสายพันธุ์อื่น

กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) เป็นหน่วยงานที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นองค์กรกำหนดมาตรฐาน (Standards Developing Organizations, SDOs) ประเภทขั้นสูง จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้เล็งเห็นความสำคัญในการควบคุมคุณภาพสารสำคัญในพืชกระท่อม โดยเฉพาะสารสกัดกระท่อมที่จะถูกนำไปใช้ทางการแพทย์ในอนาคต โดยได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างใบกระท่อมในพื้นที่ภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี และปทุมธานี พื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดสตูล นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และชุมพร เพื่อนำมาศึกษาปริมาณสารสำคัญในตัวอย่างพืชกระท่อม รวมถึงพัฒนาวิธีวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญ โดยทำความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) กับสถาบันวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อส่งเสริมศักยภาพห้องปฏิบัติการทดสอบ และการพัฒนามาตรฐานวัตถุดิบและสารสกัดจากพืชกระท่อม

ซึ่งขณะนี้ วศ. อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม (มอก.) สารสกัดใบกระท่อม เพื่อใช้เป็นมาตรฐานสำหรับการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์สารสกัดใบกระท่อมที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่างๆ ต่อไป

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published.