กิโยตินกฎหมายแอลกอฮอล์ล้าสมัย ติดเครื่องเศรษฐกิจการท่องเที่ยวไทย

นางสาวเขมิกา รัตนกุล นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA

ก่อนวิกฤติโควิด-19 การท่องเที่ยวไทยทำรายได้ให้ประเทศมหาศาล หล่อเลี้ยงชีวิตมากมายที่อยู่ในสายพานธุรกิจการท่องเที่ยว ภาพรวมรายได้การท่องเที่ยวของไทยในปี 2562 นั้นมีมูลค่าถึง 3.011 ล้านล้านบาท

หลังวิกฤติโรคระบาด ผู้คนจำนวนมากซึ่งชีวิตล้มละลายหวังที่จะลุกยืนขึ้นอีกครั้ง แต่การฟื้นฟูจากวิกฤติของภาคการท่องเที่ยวในวันนี้ล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็นโดยเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ต้องเผชิญอุปสรรคที่เกิดจากกฎหมายล้าสมัย อคติ โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมแอลกอฮอล์

ความล้าสมัยของกฎหมายแอลกอฮอล์ของไทยมีหน้าตาอย่างไร ส่งผลอย่างไรต่อชีวิตผู้คนในภาคการท่องเที่ยวและบริการ เป็นอุปสรรคอย่างไรต่อผู้ผลิตรายย่อยและรายใหม่ เราทำอะไรกับกฎหมายที่ล้าหลังได้บ้างเพื่อส่งกำลังให้ภาคการท่องเที่ยวไทยทั้งกลางวันและกลางคืน และเปลี่ยนผ่านประเทศสู่ความเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ บทความนี้กำลังชวนให้ผู้อ่านทุกท่านร่วมกันพิจารณา

ชำแหละกฎหมายแอลกอฮอล์ไทย: ล้าสมัย อคติ และไม่ช่วยแก้ปัญหา

กฎหมายไทยซึ่งกำหนดเวลาห้ามขายแอลกอฮอล์มีรากฐานมาจากประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 253 ปี พ.ศ.2515 สมัยจอมพลถนอม กิตติขจร โดยข้อ 2 ของประกาศกล่าวว่า “ห้ามมิให้ผู้ได้รับอนุญาตขายสุรา… หรือบุคคลใดซึ่งกระทำการเพื่อประโยชน์ของผู้ได้รับใบอนุญาตขายสุราดังกล่าวจำหน่ายสุราทุกชนิดในเวลาอื่น นอกจากตั้งแต่เวลา 11.00 นาฬิกาถึงเวลา 14.00 นาฬิกา และตั้งแต่เวลา 17.00 นาฬิกาถึงเวลา 24.00 นาฬิกา…” ในวันนี้ ผ่านมากว่า 50 ปี การกำหนดเวลาห้ามขายแอลกอฮอล์ก็ยังคงอยู่เช่นเดิม

กฎหมายหลักที่ประเทศไทยใช้ควบคุมแอลกอฮอล์ในปัจจุบันคือ พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ซึ่งมีเจตนารมณ์ที่ดีในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อลดปัญหาและผลกระทบทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยง่าย อย่างไรก็ดี บทบัญญัติของพระราชบัญญัติฉบับนี้มีความไม่ชัดเจน ก่อให้เกิดการตีความในขั้นตอนปฏิบัติทั้งโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ประกอบการและผู้บริโภค โดยตลอดเวลากว่า 15 ปีที่กฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ ไม่มีการทบทวนประสิทธิภาพและผลกระทบจากการบังคับใช้ตามความเหมาะสมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ส่วนกฎหมายระดับรองที่ออกตามความในพระราชบัญญัติฉบับนี้ก็มีความไม่ชัดเจนเช่นกัน ทั้งยังซ้ำซ้อน อคติ ตกยุค ไม่เหมาะต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมการบริโภค และไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการท่องเที่ยวและการส่งเสริมผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมยุคใหม่

ความล้าสมัยและอคติของกฎหมายแอลกอฮอล์ไทย เป็นที่ประจักษ์ดังตัวอย่างต่อไปนี้

มาตรการควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (มาตรา 32) เป็นมาตราที่บัญญัติไว้กว้างๆ ไม่มีรายละเอียดข้อห้ามการโฆษณาไว้ชัดเจน ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจตีความเอาเองว่าการกระทำใดเป็นความผิด ที่จริงแล้วกฎหมายนี้มุ่งป้องกันไม่ให้มีการโฆษณาเกินความจริง แต่การบังคับใช้กฎหมายนี้ส่งผลกระทบต่อสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นและเพียงพอต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค แถมยังสร้างความเดือนร้อนให้กับผู้ประกอบการร้านค้า

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2558 การห้ามซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกเวลา 14.00-17.00 น. และ 24.00 – 11.00 น. ขัดต่อรูปแบบการดื่มกินของผู้บริโภค โดยเฉพาะนักท่องเที่ยว และทำให้ผู้ประกอบการเสียโอกาสในการขาย โดยตลอดเวลาหลายปีในการบังคับใช้ กฎหมายนี้ไม่มีประสิทธิภาพในการควบคุมเพราะประชาชนยังสามารถลักลอบซื้อขายหรือซื้อกักตุนไว้ก่อนได้

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบสถานศึกษา พ.ศ.2558 กฎหมายนี้ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเชิงพื้นที่แบบ “เหมารวม” ไม่คำนึงถึงความสำคัญของพื้นที่ในเชิงเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว อีกทั้งกฎหมายนี้ยังไม่มีประสิทธิผลในการควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นอันตรายและผลกระทบต่างๆ เช่น อุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563 การห้ามซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสื่อสารต่อผู้บริโภคโดยตรงผ่านช่องทางออนไลน์แบบเด็ดขาดตามกฎหมายนี้ เป็นการปิดช่องทางการค้า เป็นการห้ามที่ขัดต่อรูปแบบการค้าและพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ค้ารายย่อยที่มีช่องทางการขายจำกัด และส่งผลต่อผู้บริโภคที่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของสินค้าเพื่อการตัดสินใจและต้องเดินทางไปซื้อสินค้าเอง

ประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับฉลากของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2558 กฎหมายนี้ใช้ถ้อยคำที่ตีความได้กว้างขวาง ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง เกิดปัญหาการตรวจสอบข้อความฉลากและบรรจุภัณฑ์โดยขึ้นอยู่กับดุลพินิจของพนักงานเจ้าหน้าที่ ทำให้ผู้ประกอบการเผชิญความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีและทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นโดยไม่จำเป็น

ระเบียบกรมควบคุมโรค ว่าด้วย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินสินบนรางวัล และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 พ.ศ.2555 กฎหมายนี้กำหนดให้เจ้าหน้าที่สามารถหักเงินค่าปรับที่ได้รับจากการกระทำผิดตามพรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อเป็นเงินสินบนรางวัลและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมากสูงสุดถึง 80% กลายเป็นแรงจูงใจทางอ้อมให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างเกินจำเป็น ไม่เป็นธรรม ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อผู้ประกอบการ โดยตลอดเวลาหลายปีของการใช้มาตรการจ่ายเงินสินบนรางวัลทำให้สังคมตั้งคำถามว่า กฎหมายนี้ส่งเสริมให้เกิดช่องทางหารายได้พิเศษของเจ้าหน้าที่หรือไม่

กฎหมายแอลกอฮอล์กับอุบัติเหตุบนท้องถนนแก้ปัญหาถูกจุดหรือไม่

หนึ่งในเหตุผลหลักที่ผู้เกี่ยวข้องยกมาสนับสนุนกฎหมายแอลกอฮอล์คือการแก้ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน  ไทยเป็นประเทศที่มีอัตราความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก โดยในปี พ.ศ.2564 อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนต่อจำนวนประชากรในประเทศไทยสูงเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย และเป็นอันดับเก้าของโลก แม้ว่าปัญหานี้จะกลายเป็นวาระแห่งชาติมาหลายปีแล้วก็ตาม ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนรวมกว่า 1 แสนคนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กฎหมายแอลกอฮอล์ช่วยลดอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับหรือไม่ นี่คือคำถามที่น่าพิจารณา

จากประเทศที่มีสถิติอุบัติเหตุบนถนนสูงติดอันดับโลกอย่างไทย ลองไปดูประเทศที่ได้ชื่อว่ามีการขับขี่บนถนนอย่างปลอดภัย เราจะเห็นชื่อประเทศเหล่านี้ไม่ได้มีกฎหมายแอลกอฮอล์ที่เข้มงวดแบบไทยและประชาชนนิยมดื่มกินสังสรรค์นอกบ้าน อย่างเช่น เกาหลี ญี่ปุ่น สวีเดน เดนมาร์ก สหราชอาณาจักร สิ่งที่น่าสนใจก็คือว่าประเทศเหล่านี้สร้างวัฒนธรรม “ดื่มไม่ขับ” อย่างไร ทำไมคนญี่ปุ่น เกาหลี อังกฤษและเวลส์ซึ่งสามารถซื้อแอลกอฮอล์ได้ซุปเปอร์มาเก็ต 24 ชั่วโมง หรือดื่มสังสรรค์เป็นประจำจึงไม่ขับรถเมื่อดื่ม

ถึงเวลาแล้วที่เราจะทบทวน ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2558 และ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบสถานศึกษา พ.ศ.2558 การแก้ปัญหา “เมาแล้วขับ” ด้วยกฎหมายแอลกอฮอล์เหล่านี้เหมือนเป็นการเกาไม่ถูกที่คัน แก้ปัญหาไม่ถูกจุดหรือไม่ สังคมไทยถกเถียงเรื่องนี้กันมานานแล้วและมีข้อเสนอว่า เราควรมุ่งไปที่การบังคับใช้กฎหมายควบคุมการขับขี่ยานพาหนะอย่างเข้มงวด ยุติวัฒนธรรมรับสินบนของพนักงานเจ้าหน้าที่ ค่านิยม “เงินซื้อได้ทุกอย่าง” หันมาสร้างความตระหนักรู้และวัฒนธรรมรับผิดชอบด้วยการ “ดื่มไม่ขับ”

ภาพผีขี้เมากับสิทธิในการรับรู้ข้อมูลของเรา

สิ่งที่ดำเนินไปพร้อมกับการบังคับใช้กฎหมายแอลกอฮอล์ คือแคมเปญรณรงค์ต่างๆ ซึ่งมุ่งหวังลดพฤติกรรมการดื่มที่เป็นอันตราย ทว่าหนึ่งในภาพที่แคมเปญเหล่านั้นสร้างขึ้นมา คือปีศาจสุรา คนขี้เมา อันขัดต่อศีลธรรมอันดีงามของสังคมไทย จะดีกว่าหรือไม่หากเราเปลี่ยนแนวทางการรณรงค์ จากการสร้างภาพผีขี้เมา มาเป็นการให้ข้อมูลทางสุขภาพ โดยไม่ผลักให้ผู้ดื่มกลายเป็น “คนบาป”

พร้อมๆ กับการหยุดสร้างภาพปีศาจสุราหลอกหลอนคนในสังคม เราควรทบทวน ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563 และ ประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับฉลากของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2558 เพื่อคืนสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารให้ประชาชน คู่ไปกับการให้การศึกษาเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และผลจากการดื่มอย่างเป็นอันตราย

ในสังคมประชาธิปไตยยุคดิจิตัล การปิดกั้นข้อมูลของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นไม่ควรเกิดขึ้น ประชาชนผู้บริโภคมีสิทธิที่จะรู้รายละเอียดของทุกผลิตภัณฑ์ก่อนตัดสินใจซื้อ การให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาไม่อวดอ้างเกินจริงต้องสามารถกระทำได้ โดยเฉพาะ ณ สถานที่ขาย การรับรู้ข้อมูลที่ไม่เพียงพอก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี อีกทั้งไม่ได้การันตีว่าประชาชนจะดื่มแอลกอฮอล์น้อยลง

ห้ามโฆษณาขัดขวางรายย่อย เอื้อรายใหญ่

ประเทศไทยมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพียงไม่กี่แบรนด์ครองตลาดมาหลายปี ซึ่งความจริงเรามีสุราที่ผลิตจากภูมิปัญญาพื้นบ้านโดยผู้ผลิตรายย่อยหรือชาวบ้านในหลายพื้นที่ แต่แบรนด์เล็กๆ เหล่านี้ผลิตแล้วขายไม่ได้ โฆษณาไม่ได้ เข้าไม่ถึงผู้บริโภคในวงกว้าง เพราะกฎหมายแอลกอฮอล์ที่ลักลั่นจนเป็นอุปสรรคในการประกอบอาชีพสุจริต

ข้อห้ามในการโฆษณาและค่าปรับแสนแพงเป็นกำแพงอุปสรรคที่ผู้ผลิตรายย่อยหรือผู้ผลิตหน้าใหม่ข้ามไปไม่ได้ หากรัฐไม่ทบทวน พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 32ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563 และ ประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับฉลากของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2558 การคงอยู่ของกฎหมายเหล่านี้จะเอื้อให้การผูกขาดตลาดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพียงไม่กี่แบรนด์ดำเนินต่อไป สร้างอุปสรรคให้ผู้ผลิตรายย่อยซึ่งมีแนวคิดสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ด้อยค่าภูมิปัญญาพื้นบ้าน ถือเป็นการสกัดโอกาสทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในระดับท้องถิ่น

สถานการณ์ธุรกิจท่องเที่ยวไทยเมื่อคนตัวเล็กในห่วงโซ่ใหญ่ขอโอกาสหายใจ

เมื่อไม่นานมานี้ เครือข่ายกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ร้านค้า ร้านอาหาร สถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ ได้ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยจัด Socialized and Night Entertainment Zoning ในแหล่งท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติหนาแน่นให้เปิดบริการได้ถึงตี 4 และให้ร้านสถานประกอบการนอกพื้นที่โซนนิ่งเปิดได้ถึงตีสอง รวมทั้งยกเลิกเวลาห้ามขายระหว่างบ่ายสองถึงห้าโมงเย็น พร้อมกันนั้นกลุ่มผู้ประกอบการฯ ก็ยืนยันการใช้มาตราการควบคุมด้านความปลอดภัย การจำกัดอายุผู้ใช้บริการ และการส่งเสริมเสริมให้มีจุดเชื่อมต่อกับขนส่งสาธารณะ

ภาคการท่องเที่ยวของไทยโดยเฉพาะภาคกลางคืนนั้นมีชื่อเสียงติดอันดับโลก แต่ต้องชะงักงันจากกฎระเบียบที่ล้าสมัยเกินจำเป็นของภาครัฐ ข้อเสนอของกลุ่มผู้ประกอบการฯ เป็นข้อเสนอที่อยู่ในโลกของความเป็นจริง ต้องการเอื้อประโยชน์ให้กับคนมากมายที่อยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ตั้งแต่เจ้าของสถานประกอบการทั้งรายใหญ่รายย่อม พนักงานบริการ คนขับรถรับจ้าง พ่อค้าแม่ค้าในย่านท่องเที่ยว คนทำงานกลางคืน นักร้องนักดนตรี และชีวิตเล็กๆ อีกมากมายในสายพานงานบริการท่องเที่ยวและครอบครัวของเขาที่เรามองข้าม

นอกจากนี้กฎหมายแอลกอฮอล์ที่ล้าหลังยังสร้างภาพลักษณ์เชิงลบต่อการท่องเที่ยวไทย การจำกัดวันเวลาและสถานที่ขายไม่เพียงทำให้ผู้ประกอบการเสียโอกาสทำรายได้ แต่ยังสร้างประสบการณ์ที่ไม่น่าประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยว เพราะพวกเขาไม่สามารถซื้อและดื่มแอลกอฮอล์ได้ในวันสำคัญทางศาสนาพุทธ ไม่ว่าจะที่ใดแม้กระทั่งในสนามบินขาออกนอกประเทศ (ซึ่งประเทศไทยไม่ใช่รัฐศาสนา แต่มีความหลากหลายด้านศาสนาและวัฒนธรรม) และในทุกๆ วันธรรมดาระหว่างเวลา 14.00-17.00 น. นักท่องเที่ยวต่างงุนงงกับกฎเหล่านี้ ยิ่งไปกว่านี้ ภาพการเรียกรับผลประโยชน์จากสถานประกอบการที่เปิดหลังเวลาที่กฎหมายกำหนดโดยเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งพบเห็นกันทั่วไปตอกย้ำว่าทำไมดัชนีรับรู้การทุจริตของไทยลดลงอย่างต่อเนื่องจนมาอยู่ในลำดับที่ 110 จาก 180 ประเทศทั่วโลกในปี 2564 จากลำดับที่ 104 ในปี 2563 และยิ่งดูล้าหลังไปอีกเมื่อมีภาพเจ้าหน้าที่ขู่ดำเนินคดีกับผู้ที่ถ่ายภาพคู่กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งประชาชนทั่วไป หรือโดยดารา นักร้อง นักกีฬา หรือผู้มีชื่อเสียงทางสังคม รวมถึงการตรวจค้นอย่างเกินจำเป็น ข่มขู่ และรีดทรัพย์นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวสถานบันเทิง

 กิโยตินกฎหมาย เร่งเครื่องเศรษฐกิจการท่องเที่ยว

ข้อเสนอของเครือข่ายกลุ่มผู้ประกอบการฯ นั้นสอดคล้องกับแนวทางที่เรียกว่า Regulatory Guillotine (RG) หรือ กิโยตินกฎหมาย ซึ่งเป็นการทบทวนกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อปฏิรูป ลด ละ เลิกกฎหมายที่หมดความจำเป็น ล้าสมัย โดยกระบวนการกิโยตินกฎหมายเน้นการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน และใช้หลักเกณฑ์ในการทบทวนทั้งในมิติด้านนิติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์

การกิโยตินกฎหมายแอลกอฮอล์บางฉบับ บางมาตรา อาจต้องใช้เวลาและผ่านกระบวนการมากมาย แต่สิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้ในระดับหน่วยงานโดยไม่ต้องผ่านรัฐสภา คือการยกเลิกการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วง 14.00 – 17.00 น. ซึ่งเมื่อกลางปี 2565 ที่ผ่านมาที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) ได้ขานรับแนวคิดนี้แล้ว

การกิโยตินกฎหมายห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วง 14.00 – 17.00 น. จะเสริมพลังให้การท่องเที่ยวไทย ซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงมาก โดยภาพรวมรายได้การท่องเที่ยวทั้งของนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่ามากกว่า 3 ล้านล้านบาท ในปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬารายงานว่า ในปี 2562 ปีเดียว นักท่องเที่ยวไทยใช้จ่ายกับอาหารและเครื่องดื่ม 243,697.65 ล้านบาท และนักท่องเที่ยวต่างชาติใช้จ่ายกับอาหารและเครื่องดื่ม 404,587.29 ล้านบาท สอดคล้องกับที่ The International Wine and Spirits Research รายงานว่า มูลค่าตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศไทยในช่วงปี 2554-2558 มีมากกว่า 3 แสนล้านบาท และเพิ่มขึ้นมานับตั้งแต่ปี 2559-2565 เป็นมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท

ตัวเลขเหล่านี้คือสิ่งที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจและผู้คนในประเทศมาก่อนการระบาดของโควิด-19 หากเราต้องการเร่งเครื่องการพลิกฟื้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวไทย เปลี่ยนผ่านไทยสู่ผู้นำโลกด้านการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ครบวงจร การกิโยตินกฎหมายแอลกอฮอล์คือความจำเป็น และโดยแท้จริงคือยุทธศาสตร์ชาติ

ผู้คนตัวเล็กๆ ในห่วงโซ่ขนาดใหญ่ต้องเผชิญวิกฤติจากกฎหมายล้าสมัยและอคติ การกิโยตินกฎหมายแอลกอฮอล์จะส่งแรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจการท่องเที่ยวไทยเดินหน้าสู่ความเป็นผู้นำ เปิดโอกาสให้ผู้คนในห่วงโซ่ธุรกิจการท่องเที่ยวได้ลืมตาอ้าปาก เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตรายย่อยได้เริ่มต้น สร้างบรรยากาศการแข่งขันที่เป็นธรรม ในขณะที่ก่อให้เกิดสมดุลในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและสาธารณสุขในคราวเดียวกัน.

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published.