สวนป๋วย เปิดโครงการ “ธรรมศาสตร์ทำนา สวนหลังคาลอยฟ้า”

อุทยานการเรียนรู้ ป๋วย 100 ปี หรือ สวนป๋วย เนินเขากลางกรุง ผืนเกษตรชุ่มน้ำ แหล่งเรียนรู้การเพาะปลูกปลอดสาร และประชาธิปไตย บนพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เปิดให้บริการแล้ว พร้อมเดินหน้าพัฒนาองค์ความรู้ ชูเกษตรกรรมสร้างสรรค์ อาหารมั่นคงและปลอดภัย เปิดโครงการ “ธรรมศาสตร์ทำนา และปลูกผัก บนหลังคาลอยฟ้า” ครั้งที่1 บนสวนผักไร้สารเคมีลอยฟ้าใหญ่ที่สุดในเอเชียและอันดับ 2 ของโลก รองจากมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

โครงการ “ธรรมศาสตร์ทำนา และปลูกผัก บนหลังคาลอยฟ้า”  หรือ “Thammasart Urban Rooftop Organic Farm” เป็นความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ สำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เกษตรอินทรีย์อย่างถูกต้องและสามารถปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งเป็นกุศโลบายในการสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นในสังคมไทยในการให้ความสำคัญกับเกษตรปลอดภัยอย่างจริงจัง นำไปสู่ความมั่นคงทางด้านอาหารและปลอดภัยต่อผู้บริโภค

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า “หนึ่งในนโยบายสำคัญของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือ การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งความยั่งยืน “Best Sustainable and Smart University” มุ่งสู่ความมั่นคงและยั่งยืนด้วยการบริหารจัดการที่ทันสมัย อีกทั้งยังให้ความสำคัญและใส่ใจกับสิ่งแวดล้อม ชุมชน สังคม และคน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเป็น “มหาวิทยาลัยแห่งความยั่งยืน” กอปรกับวาระที่ศาสตราจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ มีชาตะกาลครบ 100 ปี และได้รับการยกย่องจากองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก จึงได้สร้าง “อุทยานการเรียนรู้ ป๋วย 100 ปี” หรือ “สวนป๋วย” ขึ้น เป็นอนุสรณ์แด่อาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์”

การออกแบบ สวนป๋วย มีความพิเศษเป็นตึกรูปตัว H ทางเดินขึ้นสี่ด้านอย่างเท่าเทียม สื่อนัยยะถึงภาพ คำว่า  Humanity สะท้อนปณิธานและจิตวิญญาณดั้งเดิมของธรรมศาสตร์ไว้ “ความเป็นประชาธิปไตย” อันมีความเท่าเทียมเสมอกันของคนไทยทุกคน อยู่ภายใต้หลังคาที่เป็น พูนดิน สอดคล้องกับชื่ออาจารย์ป๋วย ในแนวคิดผืนดินไล่ระดับแบบเนินเขา ที่ทำให้ทุกคนเดินขึ้นไปได้อย่างใกล้ชิดธรรมชาติ

สำหรับโครงการ“ธรรมศาสตร์ทำนา และปลูกผัก บนหลังคาลอยฟ้า” ได้รับความสนใจจากคณาจารย์ นักศึกษา ศิษย์เก่า และประชาชนทั่วไป รวมกว่า 200 ชีวิต ภายใต้การนำโดย รองศาสตราจารย์ เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต ผศ. ปราณิศา บุญค้ำ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร. นพ. ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และอาจารย์กชกร วรอาคม ร่วมกันปลูกข้าวสายพันธุ์ข้าวหอมธรรมศาสตร์ บนสวนผักไร้สารเคมีลอยฟ้าใหญ่ที่สุดในเอเชีย อาคารอุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี

“ทั่วทั้งพื้นที่ 100 ไร่ของสวนผักออแกนิคบนหลังคานี้ สามารถผลิตอาหารได้มากถึง 20 ตันต่อปี หรือ 133,000 มื้อต่อปี ส่งผลให้มีพืชและผักปลอดสารเคมีส่งตรงถึงจานข้าวนักศึกษา และประชาชนทั่วไป รวมทั้งเป็นศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะด้านนวัตกรรมการเกษตรที่สมบูรณ์แบบ ทั้งด้านพืชไร่ พืชสวน ไม้ดอก สมุนไพร และอื่นๆ อันเป็นองค์ความรู้เด่นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปราณิศา บุญค้ำ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริม “การดำเนินงานดังกล่าวยังสอดคล้องกับแผนแม่บท เพื่อก้าวไปสู่มหาวิทยาลัยสีเขียว ทั้งเรื่องความเป็นอยู่ การบริหารจัดการ และการใช้พื้นที่ทางกายภาพ ควบคู่ไปกับ การนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ในการก่อสร้างอาคาร มุ่งเน้นการประหยัดพลังงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการจัดการขยะ รวมถึงการวิจัยและบูรณาการหลักสูตรการเรียนการสอน นำหลายสาขาวิชามาผสมผสานเข้าด้วยกัน นำไปสู่เป้าหมายสำคัญ เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความยั่งยืน เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในที่สุด”

ดร. นพ. ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สสส. มีภารกิจสำคัญคือ การขยายแนวความคิดเรื่อง พื้นที่สุขภาวะ อันเป็นเสมือนพื้นที่ส่วนกลางของชุมชน ที่ดึงดูดให้ผู้คนออกมาทำกิจกรรมร่วมกัน มีเป้าหมายหลักคือการ ‘ปรับพฤติกรรม’ ของผู้คนในโลกยุคใหม่ เพื่อให้มีสุขภาพกายและจิตใจที่ดีขึ้น โดยให้ความสำคัญกับทุกมิติของคำว่า สุขภาพ ได้แก่ กาย จิต ปัญญา และสังคม ซึ่งเรียกรวมว่า สุขภาวะ แต่กายเป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นชัดที่สุด สิ่งที่ สสส. ดำเนินการมี 3-4 องค์ประกอบที่ต้องทำ เช่น ควบคุมปัจจัยเสี่ยง อย่าง สุราและบุหรี่ ทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม นำมาซึ่งอุบัติเหตุ และส่งเสริมเรื่องการบริโภคที่ถูกสุขลักษณะ รวมถึง การออกกำลังกาย ทั้งนี้ สวนป๋วย มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาและต่อยอดแนวคิดการบริโภคอาหารอย่างปลอดภัย ไร้สารเคมี และสร้างความมั่นคงด้านอาหารได้อย่างมีคุณภาพ ผ่านกระบวนการเรียนรู้และปฏิบัติจริงอย่างครบวงจร โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้เข้ามามีส่วนร่วม ตั้งแต่การวางแผนระบบเกษตรกรรมอินทรีย์ วิธีการเพาะปลูกไร้สารเคมี การเก็บเกี่ยวและจัดจำหน่ายสู่ผู้บริโภคในศูนย์อาหารออแกนิค จนถึงการจัดการขยะภายในมหาวิทยาลัยเพื่อนำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ใช้ในเกษตรกรรมต่อไป ที่สำคัญแนวทางการออกแบบเชิงภูมิสถาปัตยกรรมสอดคล้องกับแนวคิดพื้นที่สุขภาวะได้อย่างสมบูรณ์แบบ

อาจารย์กชกร วรอาคม หนึ่งในสามคนไทยที่ได้รับเลือกจากนิตยสาร Time ให้เป็น Time 100 Next สาขา นวัตกรระดับโลก หรือดาวรุ่งหน้าใหม่ของโลกที่มีอิทธิพลในสาขานวัตกรรม ท่ามกลางบุคคลต่าง ๆ จากทั่วโลกที่ได้รับเลือกเพียง 100 คน ในฐานะผู้ร่วมออกแบบพื้นที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ความท้าทายของการออกแบบสวนป๋วย คือ การผสมผสานแนวคิดด้านการออกแบบและการบริหารจัดการทั้งระบบอย่างครบวงจรให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต สิ่งแวดล้อม สังคม และสามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะประเด็นระดับโลกอย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการจัดการน้ำ นับตั้งแต่ 1) การจัดสรรพื้นที่ 2) การออกแบบพื้นที่ให้สามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์ได้เต็มรูปแบบ 3) การบริหารพันธุ์ไม้ช่วยกรองฝุ่น PM2.5 สร้างแหล่งอากาศบริสุทธิ์ 4) การไล่ระดับพื้นที่เพาะปลูกแบบนาขั้นบันได ลดแรงปะทะ ช่วยชะลอการไหล่บ่าของน้ำฝนได้สูงถึง 20 เท่า ลดความเสี่ยงน้ำท่วมขัง เพิ่มปริมาณรองรับน้ำฝน 5) การพัฒนาระบบจัดการน้ำหมุนเวียนพลังแสงอาทิตย์ ซึ่งพื้นที่ทั้งหมดมีสระน้ำรองรับ 4 แห่งรอบอาคาร จุน้ำได้รวมกว่า 3 ล้านแกลลอน หรือประมาณ 13.5 ล้านลิตร ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ปั้มน้ำเข้าสู่ระบบ นำมาหมุนเวียนใช้ซ้ำเพื่อการเพาะปลูก ลดการใช้ทรัพยากรด้านพลังงานและน้ำ นอกจากนี้ พื้นผิวคอนกรีตของอาคารปกคลุมด้วยไม้นานาพันธุ์ จะช่วยลดอุณหภูมิความร้อนภายในอาคารลงได้ 3-4 องศาเซลเซียส และลดอุณหภูมิภายนอกในบริเวณพื้นที่สีเขียวได้มาถึง 7 องศาเซลเซียส ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าสำหรับเครื่องปรับอากาศ อีกด้วย”

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถติดต่อขอรับข้อมูลและเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ได้ที่ โทร. 083-331-6000 ไลน์ pueypark หรืออีเมล puey100.tu@gmail.com

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published.