วันที่ 27 มกราคม 2565 รศ.(พิเศษ) ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการและโฆษกกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อม ดร.พัชรินรุจา จันทโรนานนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ ดร.จันทร์เพ็ญ เมฆาอภิรักษ์ ผู้ตรวจราชการ อว. คณะผู้บริหาร ลงพื้นที่พัฒนากลุ่มแปรรูปเพื่อเศรษฐกิจ และการพัฒนาเชิงพื้นที่ด้วย วทน. กรณีศึกษา ใบกระท่อม กัญชา กัญชง ปาล์มน้ำมัน โดยมี ดร.จิราภรณ์ บุราคร นักวิทยาศาสตร์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และ ดร.จริยาวดี ศิริจันทรา ผู้อำนวยการกองพัฒนาธุรกิจ เป็นผู้แทนกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ร่วมติดตามลงพื้นที่ ณ สวนบ้านชมพลอย ต.ทุ่งตะไคร อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร โดยนายวนิพงศ์ มุณีน้อย รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชุมพร ให้การต้อนรับ
รศ.(พิเศษ) ดร.ดวงฤทธิ์ฯ เลขานุการรัฐมนตรี อว. กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวง อว. ได้พูดคุยหารือกับนายสุพล จุลใส สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.ชุมพร เกี่ยวกับการปลดล็อคพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5 ซึ่งประชาชนในพื้นที่ จ.ชุมพร ให้ความสนใจในพืชกระท่อมและนิยมปลูกกันมากยิ่งขึ้น จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ร่วมงานกับทีม จ.ชุมพรในการสร้างงาน สร้างรายได้ต่อยอดพืชเศรษฐกิจ
โดยในส่วนของ อว. มีทีมผู้เชี่ยวชาญในหลายด้านไม่ว่าจะเป็นการพัฒนา การต่อยอด การแปรรูปทำเป็นสารสกัดต่างๆ รวมถึงพัฒนามาตรฐานเพื่อให้ผลิตภัณฑ์สามารถส่งออกได้ เราจะเป็นทีมแรกๆ ที่จะลุยภารกิจด้านนี้ โดยพี่น้องชาวเกษตรกรในพื้นที่เป็นผู้แจ้งความต้องการเพื่อให้ทีม อว. ผลักดันและสนับสนุนจนเกิดความสำเร็จ และเราจะเดินหน้าตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ ด้วยการนำ วทน. มาเสริมเศรษฐกิจของประเทศ สร้างรายได้อย่างยั่งยืนอย่างเต็มที่ และตอบโจทย์ทุกความต้องการของเกษตรกรชาวชุมพร ต่อไป
จากการลงพื้นที่ดังกล่าว พบว่าเกษตรกรพืชเศรษฐกิจกระท่อมจากทั้ง 8 อำเภอของชุมพร มีความต้องการพัฒนากระบวนการผลิตให้ได้รับมาตรฐานสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงพัฒนาให้เป็นยาต่างๆ เช่น ยารักษาเบาหวาน สารสกัดเพื่อสุขภาพจากกระท่อมฯลฯ เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ
โดยกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) จะรับโจทย์ในเรื่องของมาตรฐานพร้อมให้คำปรึกษาเบื้องต้นในการพัฒนากระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ และการขอมาตรฐานเป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อประยุกต์ใช้ในการผลิตให้ถูกสุขลักษณะพร้อมทั้งเป็นศูนย์กลางในการประสานกับหน่วยงานต่างๆ ได้แก่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ,สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคแห่งชาติ (สวทช.) ,สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ,คณะทำงานเครือข่าย U2T มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตศรีราชา (คณะพาณิชย์นาวีนานาชาติ) ,สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) และสมาพันธ์ SME ไทย ดึงความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ที่มีมาร่วมกันผลักดันผู้ประกอบการให้เข้าสู่กระบวนการรับรองมาตรฐาน ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ ทำให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองและนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจในระดับฐานรากที่เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป