คณะอนุกรรมการศึกษาแนะแนวทางป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน

วันที่ 24 ธันวาคม 2564 นายแพทย์ทวีวงษ์ จุลกมนตรี สมาชิกวุฒิสภา และประธานคณะอนุกรรมการศึกษาเสนอแนะแนวทางป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน วุฒิสภา พร้อมด้วย นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และมูลนิธิปันเพื่อสังคม ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนน พร้อมร่วมวางมาตรการ ‘เปิดประเทศปีใหม่ ความปลอดภัยทางถนน จ.ภูเก็ต’ โดยมี นายอำนวย พิณสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัด นายแพทย์วิวัฒน์ ศีตมโนชน์ รองประธานแผนงานสนันสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) พร้อมคณะทำงานจังหวัดให้การต้อนรับ

นายแพทย์ทวีวงษ์ จุลกมนตรี สมาชิกวุฒิสภา และประธานคณะอนุกรรมการศึกษาเสนอแนะแนวทางป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน วุฒิสภา กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนน จ.ภูเก็ต โดยลงตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจการทำงานที่ศาลากลางจังหวัด สำนักงานขนส่งจังหวัดภูเก็ต สถานีตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต เพื่อติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน โครงการศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ (ศูนย์ 191) ตรวจเยี่ยมการดำเนินการแก้ไขจุดเสี่ยง จุดอันตรายของจังหวัด และศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พบ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน อสม. รพ.สต. พบว่าจุดแข็งของที่นี่คือ ความเข้มแข็งของภาคีเครือข่ายที่ร่วมงานกันมาต่อเนื่องยาวนาน จนส่งผลให้การเสียชีวิตลดลง และมีความเข้มแข็งมาก ซึ่งการทำงานที่เข้มแข็งในระดับพื้นที่เป็นจุดแข็งที่จะดำเนินการต่อยอดและเกิดความยั่งยืนได้ และอยากฝากเน้นย้ำการทำงานลงให้ถึงระดับพื้นที่ตามนโยบาย “ตำบลขับขี่ปลอดภัย ”ของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ซึ่งชุมชนท้องถิ่นจะต้องเป็นผู้ได้รับประโยชน์จาการทำงานและเกิดความยั่งยืนคือชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองได้

“โมเดลมาตรการความปลอดภัยทางถนน จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญ ที่มีประชาชนจากหลายพื้นที่ และชาวต่างชาติ มาใช้รถใช้ถนนจำนวนมาก ซึ่งเหมาะสำหรับนำไปต่อยอดในพื้นที่ท่องเที่ยวอื่น” นายแพทย์ทวีวงษ์ กล่าว

นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จ.ภูเก็ต เป็นพื้นที่ที่ สสส. สนับสนุนการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุ ตั้งแต่ช่วงปี 2550-2551 และเห็นพัฒนาการการทำงานและมีความเปลี่ยนแปลงสูง ปัจจุบันภูเก็ตเป็นต้นแบบให้กับหลายจังหวัด ทั้งเรื่องการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายในพื้นที่ทำงานร่วมกัน การดึงทรัพยากรจากภาคเอกชนในจังหวัดลงทุนสนับสนุนงาน การวางแผนแก้ไขจุดเสี่ยง การสวมหมวกนิรภัยที่เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาสวมหมวกนิรภัยสูงติดหนึ่งในสามของประเทศ การดูแลเรื่องการดื่มแล้วขับ การขับรถเร็ว การจัดสภาพแวดล้อมทำวงเวียน จนถึงการมีกลไกจัดการอุบัติเหตุในระดับอำเภอ โดยในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา สสส.ได้จัดนิทรรศการนักสืบจราจร เจาะกลุ่มเยาวชน และผู้ปกครอง ซึ่งเป็นกลุ่มอายุที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุสูง ให้เกิดความตระหนักในเรื่องความปลอดภัยมากขึ้น และในเทศกาลปีใหม่นี้ เห็นด้วยกับมาตรการของพื้นที่ จ.ภูเก็ต ที่ได้มีการดำเนินการทั้งเชิงรุก และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ผู้คนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่จำนวนมาก

นายแพทย์วิวัฒน์ ศีตมโนชน์ รองประธานแผนงาน สอจร. และผู้อำนวยการแผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า ทาง จ.ภูเก็ต ได้มีมาตรการดำเนินงานในช่วงเทศกาลปีใหม่เอาไว้โดยตั้งเป้าหมายเพื่อให้เกิดความปลอดภัยบนท้องถนนกับนักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่ โดยจะมีทั้งเรื่องของมาตรการบังคับใช้กฎหมาย เรื่องสวมหมวกนิรภัย การดื่มแล้วขับ และขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด

“เรามีมาตรการที่ค่อนข้างเข้มข้นมาก อย่างการดำเนินการเรื่องการสวมหมวกนิรภัย ตอนนี้ได้ทำงานลงไปในระดับชุมชน โดยตำรวจเข้าไปสร้างความเข้าใจในชุมชน เรื่องการดื่มแล้วขับซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต โดยเฉพาะเวลากลางคืน เราจะใช้มาตรการเชิงรุก ก็คือตำรวจภูธรจังหวัด มอบหมายให้ตำรวจพื้นที่ไปคุยกับสถานประกอบการ และมีแผนว่าจะมีหน่วยบูรณาการเคลื่อนที่ไปตรวจแบบสุ่มในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง โดยมีทีมสหสาขาวิชาชีพร่วมดำเนินการด้วย โดยจะใช้มาตรการทางกฎหมายเข้มข้น ส่วนเรื่องการตั้งด่าน เราทำตามนโยบายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะมีการตั้งด่านเพื่อลดผู้กระทำผิด” นายแพทย์วิวัฒน์ กล่าว

อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมานักท่องเที่ยวเริ่มกลับเข้ามาพื้นที่ จ.ภูเก็ต สถิติอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นชัดเจน พอสถานบริการเปิด มีการจำหน่ายแอลกอฮอล์ มีคนบาดเจ็บเสียชีวิตในช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม มีการบาดเจ็บเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับประชาชนออกมาใช้ชีวิตมากขึ้น โดยทางทีมงานมีความท้าทายในการกำลังพยายามขยับเรื่องระบบการเชื่อมข้อมูล เราทำงานร่วมกับการวิเคราะห์ข้อมูลเมือง ที่เป็นระบบภูมิสารสนเทศ ผลักข้อมูลเรื่องอุบัติเหตุของภูเก็ต เข้ากับ Big Data ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของระบบข้อมูลแห่งชาติที่ทางวุฒิสภากำลังผลักดันอยู่ เรื่องที่สอง คือ รายได้ของ จ.ภูเก็ต ที่เป็นจังหวัดท่องเที่ยว เดิมทีรายได้ประชาชนมาจากการท่องเที่ยว ซึ่งตำรวจเห็นใจเรื่องค่าปรับจราจรของประชาชน จึงพยายามที่จะใช้การสื่อสารเชิงบวกในการปรับพฤติกรรม ร่วมกับการทำงาน ชุมชน สาธารณสุข ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว ก่อนที่จะทำเรื่องกฎหมายอย่างเข้มข้น 100% ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *