ผู้รับเหมาก่อสร้างไทยโวย การสร้างส่วนต่อขยายศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ โซน c มูลค่า 30,000 ล้านบาทส่งสัญญาณแปลกๆว่ามีการล็อกสเปกเพื่อให้บริษัทยักษ์ใหญ่ของคนในคณะรัฐบาลได้งานนี้ไปอีกครั้ง โดยกำหนด TOR ว่าต้องได้มาตรฐานอาคารสีเขียว LEED อย่างเดียว ไม่เอามาตรฐานอาคารเขียว TREES ของไทย ทั้งๆที่ในระเบียบการปฏิบัติ กลับระบุว่าให้ผู้รับจ้างต้องดำเนินงานก่อสร้างให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานอาคารเขียวไทย(TREES) หรือ ได้รับการรับรองมาตรฐาน TREES (Thai s Rating of Energy and Environmental Sustainabiliy) เหมือนเกลียดปลาใหลกินน้ำแกง ทำให้บริษัทก่อสร้างหลายรายไม่สามารถเข้าแข่งขันได้
ผู้สื่อข่าวสายกระทรวงการคลังรายงานว่า จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีด่วนที่สุด ที่นร 0505/38631 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2561 อนุมัติในหลักการโครงการพัฒนาพื้นที่ส่วนขยายศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ โซนC ของบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด(ธพส.) อันเป็นเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สังกัดกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ กรอบวงเงินลงทุนรวม 30,000,000,000 บาท(สามหมื่นล้านบาทถ้วน) ให้กระทรวงการคลังรับไปพิจารณาแหล่งเงินทุนและวิธีการระดมทุนที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงต้นทุนทางการเงิน ความเหมาะสม คุ้มค่า ภาระงบประมาณหรือภาระการคลังที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
โดยทางบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด(ธพส.) เป็นผู้ดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรี มีวัตถุประสงค์เพื่อจ้างก่อสร้างโครงการพัฒนาพื้นที่ส่วนขยาย โซน C ในส่วนของงานจ้างก่อสร้างอาคารด้านทิศใต้ เพื่อให้หน่วยราชการเข้าใช้พื้นที่เป็นสำนักงานแทนการเช่าพื้นที่เอกชน ซึ่งจะช่วยลดภาระงบประมาณ และเป็นการสร้างรายได้ให้รัฐเพิ่มขึ้น รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการประสานงาน และการให้บริการประชาชนให้ได้รับความสะดวก ตลอดจนเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินภายในศูนย์ราชการฯให้เต็มศักยภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด
แต่แล้ว เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2564 นายนาฬิกอติภัค แสงสนิท กรรมการผู้จัดการบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด ได้ประกาศร่างขอบเขตของงาน หรือ TOR (Term of Reference) รายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุ หรือแบบรูปรายการงานก่อสร้างอาคาร ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์(e-bidding) เลขที่โครงการ 641 072 065 22 ว่า ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีผลงานก่อสร้างอาคารสำนักงานที่มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 2,250,000,000 บาท (สองพันสองร้อยห้าสิบบาทถ้วน)พร้อมแสดงสำเนาสัญญาจ้างด้วย
โดยผลงานดังกล่าวจะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
(1) เป็นผลงานในสัญญาเดียวที่แล้วเสร็จตามสัญญา และมีการตรวจรับงานเรียบร้อยแล้ว
(2) เป็นผลงานที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานเอกชนที่ธพส.เชื่อถือและไม่ใช่ผลงานอันเกิดจากการรับจ่างช่วง
(3) เป็นผลงานที่จะต้องก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งอาคารสำนักงานตามสัญญา และก่อสร้างในประเทศไทย
ซึ่งข้อที่4 เป็นข้อที่เป็นปมประเด็นปัญหาโดยระบุว่า
(4) ผู้ยื่นข้อข้อเสนอผลงานดังกล่าว ต้องมีผลงานการก่อสร้างอาคารสำนักงานที่สร้างใหม่ และได้รับการรับรองมาตรฐาน LEED ไม่ต่ำกว่าระดับ Gold มีพื้นที่ก่อสร้างไม่น้อยกว่า 65,000 ตารางเมตรด้วย โดยให้นำสำเนาใบรับรองและเอกสารสัญญาผลงานอาคารสำนักงานที่ได้รับรองมาตรฐานมายื่นก่อนวันประกวดด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเรื่องนี้มีผู้รับเหมาก่อสร้างไทยหลายรายได้มีหนังสือท้วงติงไปที่นาย นายนาฬิกอติภัค แสงสนิท กรรมการผู้จัดการบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด ว่าตามข้อกำหนดข้อ 4 ดังกล่าว ที่ระบุว่า ผลงานการก่อสร้างอาคารที่ได้รับรองมาตรฐาน LEED(Leadership in Environmental Desigh) ไม่ต่ำกว่าระดับ Gold ซึ่งเป็นเกณฑ์การประเมินระดับนานาชาติที่แสดงถึงมาตรฐานในการก่อสร้างอาคารสีเขียว แต่ในข้อ 21 บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัดได้กำหนดว่า ให้ผู้รับจ้างต้องดำเนินงานก่อสร้างให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานอาคารเขียวไทย (TREES) หรือรับการรับรองมาตรฐาน (Thai s Rating of Energy and Environmental Sustainabiliy)
ดังนั้นบริษัทก่อสร้างไทยได้ท้วงติงว่า ผลงานก่อสร้างที่ได้รับมาตรฐานอาคารเขียวไทย TREES ก็ควรที่จะนำมาใช้เป็นผลงาน ในการยื่นผลงานตามข้อกำหนดได้เช่นกัน แทนที่จะใช้ผลงานก่อสร้างอาคารตามมาตรฐานเขียว (LEED)เพียงอย่างเดียว
เมื่อผู้สื่อข่าวได้เจาะลึกไปดูข้อกำหนดเฉพาะงานข้อที่ 21. ก็กำหนดว่าผู้รับจ้างจะต้องดำเนินงานก่อสร้างให้เป็นไปตามข้อกำหนด ตามเกณฑ์การประเมินความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมไทย สำหรับอาคารก่อสร้างและปรับปรุงโครงการใหม่ หรือ TREES-NC(Thai s Rating of Energy and Environmental Sustainabiliy -New Construction) จริงๆ
อาจจะกล่าวได้ว่าข้อกำหนดงานอยากให้ผู้ก่อสร้างกำหนดกรอบการทำงานตามสเปก TREES แต่เวลากำหนด TOR ต้องการแค่สเปก LEED เท่านั้น เหมือนเกลียดปลาใหลแต่อยากกินน้ำแกง ตามภาษิตโบราณไทย
ไม่รู้ว่าพิมพ์ตกหล่นหรือ เพื่อให้ตรงสเปกสำหรับบริษัทใครหรือเปล่า? นายนาฬิกอติภัค แสงสนิท กรรมการผู้จัดการบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด เท่านั้นจะต้องตอบ
วิศวกรผู้เชี่ยวชาญงานก่อสร้างท่านหนึ่งกล่าวว่า สำหรับอาคารที่ต้องการขอมาตรฐานอาคารเขียว (Green Building) ในประเทศไทยนั้น มีเกณฑ์การประเมินหลักๆ ที่นิยมอยู่ 2 เกณฑ์คือ LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) ซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วโลกจากสหรัฐอเมริกา และ TREES (Thai’s Rating of Energy and Environmental Sustainability) หรือเกณฑ์การประเมินความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมไทย
สถาบันอาคารเขียวไทย โดย TREES นั้นถูกออกแบบและกำหนดเกณฑ์การประเมินให้คล้ายกับ LEED แต่ได้มีการปรับเปลี่ยนการประเมินบางหัวข้อเพื่อให้เกณฑ์การประเมินนั้นเหมาะสมกับประเทศไทย