ภาคสังคม ช่วยปิดจุดอ่อนขับเคลื่อนงานสุขภาพ ที่รัฐเข้าไม่ถึง วางอนาคตสู่สังคมใหม่ต้องพัฒนาตัวเอง ทำงานเชื่อมโยงทุกมิติ “สุขภาพ – เศรษฐกิจ- สังคม-สิ่งแวดล้อม-การเมือง”

ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน (ขสช.) เปิดเวทีเสวนา  “ความท้าทายของการสร้างเสริมสุขภาพในยุคสังคมใหม่ NEW Society “ โดย นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผอ.สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวตอนหนึ่งว่า ภาคประชาสังคมมีส่วนสำคัญมากในการขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ โดยเข้ามาเสริมในส่วนที่ภาคเอกชน หรือรัฐเข้าไม่ถึง ซึ่งในช่วงการระบาดของโรคโควิด -19 นั้นเห็นชัดมาก เพราะมีบางเรื่องที่รัฐมีข้อจำกัดในการเข้าถึงคนบางกลุ่ม ทำให้ภาคประชาสังคมลุกขึ้นมาทำแทน อย่างไรก็ตามความ ท้าทายการทำงานด้านสุขภาพของประชาสังคมมี 3 ส่วนคือ 1.การแทรกแซงของอุตสาหกรรม และมุมมองสิทธิ เสรีภาพ ส่วนบุคคล 2. การจำกัดอยู่ในประเด็นสุขภาพและคุณธรรม  เช่นเรื่องแอลกอฮอล์ ที่ยังค่อนข้างแคบ เรื่องการติดเหล้า -ตับแข็ง แต่ไม่ได้ขยายไปด้านอื่นมากนัก เช่นความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และ 3. ภาวะรัฐเป็นใหญ่ (authoritarian) ความลึกของอิทธิพลอุตสาหกรรม  พื้นที่การมีส่วนร่วมจำกัด  ความหลากหลายของภาคประชาสังคม

นพ.ทักษพล กล่าวว่า ย้ำว่าการเชื่อมพลังของภาคประชาชนคือส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ แต่ในส่วนของประเทศไทยยกตัวอย่างการขับเคลื่อนเรื่องแอลกอฮอล์ ใช้พลังสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา เชื่อมพลังของประชาชนซึ่งทำงานได้ดี แต่ยังมีข้อจำกัด ดังนั้นจึงต้องทำให้เกิดขบวนการ การสร้างเสริมพลัง ขับเคลื่อนไปข้างหน้า และหยั่งราก การสร้างสถาบัน พัฒนาศักยภาพองค์รวม ขยายเครือข่ายอย่างมียุทธศาสตร์ และยุทธศาสตร์การใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของภาคประชาสังคม ความหลากหลาย ความเป็นตัวแทน ความชอบธรรม และความเชื่อมโยง เป็นต้น

ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย  ผอ.ศูนย์พัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการควบคุมยาสูบ กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิดทำให้เกิดสังคมใหม่ และสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำที่มีมากในสังคม ซึ่งเรารู้ว่าทุกคนเสี่ยงติดเชื้อเท่ากัน แต่คนจนจะเสี่ยงมากกว่าด้วยสภาพความเป็นอยู่ มีคนต้องนอน ต้องเสียชีวิตข้างถนน นอกจากนี้การเข้าถึงการตรวจ รักษาในสถานพยาบาล การได้รับวัคซีน ล้วนแต่มีความเหลื่อมล้ำ อีกทั้งโควิดยังทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศไทยที่พึ่งพาการท่องเที่ยวมาก ขาดการพัฒนาเกษตรกรรมที่เป็นจุดแข็งของไทยเอง ดังนั้นการแก้ปัญหาเหล่านี้จะทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืนในสังคมใหม่หลังโควิด ซึ่งเราต้องการผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ และการใช้เทคโนโลยี ที่นำไปสู่การพัฒนาประเทศให้พึ่งพาตัวเองได้ในระยะยาว

ทั้งนี้  TDRI ได้มีการวิเคราะห์และเสนอว่าในทุกนโยบายต้องพูดถึงและให้ความสำคัญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ ต้องมีการพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจในทุกระดับ มีการปฏิรูประบบคุ้มครองทางสังคม พัฒนาเทคโนโลยีที่เอื้อต่อรากหญ้า บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง หรือราคาต่ำ ปรับระบบราชการให้มีความยืดหยุ่นและคล่องตัวมากขึ้น ป้องกันการผูกขาดและคอรัปชั่น ยกระดับธรรมาภิบาล ปรับทัศนคติทางสังคม โดยเฉพาะอำนาจนิยม ส่งเสริมประชาธิปไตยและกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและชุมชน อีกเรื่องสำคัญในภาวะสังคมแบ่งขั้วภาคประชาชนเราควรเข้ามาช่วยเสริมและเชื่อมโยงช่องว่างระหว่างวัย เรื่องเฟคนิวส์ ปัญหาการบูลลี่ และต่อสู้ให้รัฐแก้ปัญหาในเชิงระบบเรื่องการดูแลสุขภาพ ค่าครองชีพ ประชาธิปไตย แยกรัฐออกจากอิทธิพลระบบทุนผูกขาด การผลิตควรมีการกระจาย ไม่ผูกขาด และนิเวศวิทยา การพัฒนาเชิงพื้นที่ การเมืองในที่สาธารณะ เป็นต้น

ขณะที่ นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี หรือ ไบโอไทย กล่าวว่า ส่วนตัวมีความเห็นใน 6 เรื่องใหญ่ คือ 1.โรคอุบัติใหม่ โรคระบาด การป่วยและเสียชีวิตจากโรคต่างๆ ในอนาคตจะมีความเชื่อมโยงกับอาหารการกินมากขึ้น เช่น โรคโควิด ก็เป็นผลที่คาดการได้อยู่แล้ว และจะยิ่งทำให้เห็นความเหลื่อมล้ำมากขึ้น เช่น วัคซีนโควิด จะเห็นว่าประเทศร่ำรวย ฉีดวัคซีนประมาณ 71-72% ประเทศรายได้ปานกลางฉีดวัคซีน 40% และประเทศด้อยพัฒนาฉีดวัคซีนเพียง 4% แต่อัตราเสียชีวิตน้อยกว่ามาก 2.ปัญหาเศรษฐกิจคาดว่าจะต่อเนื่องไปนานถึง 7 ปี ดังนั้นการทำงานใน 10 ปีข้างหน้า ต้องแบ่งครึ่งหนึ่งหรือ 5 ปีข้างหน้าคิดถึงเรื่องคนไม่มีจะกิน เน้นการเชื่อมโยงเรื่องเศรษฐกิจเข้าไปด้วย ทั้งนี้ อนาคตโลกจะมาในเทรนด์ของอาหาร สมุนไพรเพื่อสุขภาพมากขึ้น

3.เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (climate Change) ปัญหาหนึ่งคืออุตสาหกรรมผลิตอาหารที่เป็นตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 30% ของทั้งโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจากอาหารการกิน 4. คือการเจรจาการค้า ซึ่งที่เราต่อสู้คัดค้านกันอยู่ตอนนี้คือการเข้าร่วม FTA ไทย- อียู ซึ่งเป็นทราบกันดีว่าอียูจะเน้นเรื่องเหล้ามาก นอกจากนี้ยังค้านการเข้าร่วม CPTPP ด้วย เพราะจากการศึกษาของคณะเภสัชศาสตร์จุฬาฯ พบว่าจะทำให้ตลาดยาภายในประเทศเสียหายมาก ต้องซื้อยาแพงเกือบ 4 แสนล้านบาทต่อปี ต้องเสียค่าเมล็ดพันธ์ทางการเกษตรเพิ่มเกือบแสนล้านบาทต่อปี ยังไม่รวมเรื่องผ่อนปรนการโฆษณา และภาษีต่างๆ 5.การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ 6.เรื่องเศรษฐกิจการผูกขาดซึ่งจริงๆ ก็เชื่อมโยงทางการเมือง

  ดังนั้นทางแก้ไขต้องทำหลายเรื่องคือ การแก้ไขเชิงระบบ โดยเฉพาะการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางอย่างยั่งยืน เช่นสร้างความเชื่อมโยงระหว่างเมืองกับชนบทตั้งตลาดที่สองฝ่ายได้ประโยชน์ เป็นต้น เรื่องอาหารการพึ่งพาตัวเองด้านสุขภาพ เรื่องการเมืองและแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องช่วยกันต่อยอดเรื่องรัฐสวัสดิการ ผลักดันเกษตรยั่งยืน 100% ในปี 2573 เรื่องการสร้างความเป็นองค์กรให้เป็นที่น่าเชื่อถือ ได้รับการยอมรับ และการยึดหลักคิด หลักการทำงานที่แน่วแน่เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกับพรรคการเมือง กลุ่มการเมืองได้ทุกฝ่าย โดยไม่ปฏิเสธความแตกต่าง แต่ยังต้องยึดกุมหัวใจหลักสำคัญเอาไว้ เช่น ยึดหลักประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การสร้างความเท่าเทียมทางด้านสุขภาพ  เป็นต้น

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *