กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมวิชาการ International Drug Forum ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 พัฒนาศักยภาพบุคลากรผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติด และบูรณาการทุกภาคส่วนทั้งในประเทศและนานาชาติในการขับเคลื่อนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดอย่างเป็นระบบ ให้ผู้ผ่านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพกลับมาดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และไม่กลับมาใช้ยาเสพติดซ้ำ เป็นการ “คืนคนดีสู่สังคม”
วันนี้ (8 สิงหาคม 2566) ที่อิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมวิชาการ International Drug Forum ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จัดโดยสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด และปาฐกถาพิเศษ “นโยบายการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด” โดยมีนายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล ที่ปรึกษาระดับกระทรวง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านสาธารณสุข)และผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข คณะผู้บริหาร และบุคลากร ภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ WHO, UNODC, UHosNET, สำนักคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงยุติธรรม, กระทรวงกลาโหม, กองทัพไทย, กองทัพบก, กองทัพเรือ, กองทัพอากาศ, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กรุงเทพมหานคร, สถาบันการศึกษา และ NGOs เข้าร่วมประชุมกว่า 1,000 คน
นายแพทย์โอภาสกล่าวว่า ยาเสพติดถือเป็นปัญหาระดับโลกที่ต้องมีการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งในระดับพื้นที่ ระดับประเทศ และนานาชาติ เพื่อขับเคลื่อนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการบูรณาการภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อให้ผู้ติดยาเสพติดหรือผู้ผ่านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพสามารถกลับมาดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และไม่กลับมาใช้ยาเสพติดซ้ำอีก ทั้งนี้ การพัฒนาศักยภาพบุคลากรผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติดให้สามารถบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดได้อย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน จึงเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การ “คืนคนดีสู่สังคม” ได้ตามเป้าหมาย
“หลังดำเนินงานมาประมาณ 1 ปี พบว่า จากเดิมที่มีการคัดกรองผู้ป่วยเป็น 3 ระดับ คือ สีแดง สีเหลือง และสีเขียว ควรต้องเพิ่มการแบ่งระดับของผู้ป่วย โดยผู้ป่วยสีแดงอาการรุนแรง ที่ดูแลในโรงพยาบาล เมื่อดีขึ้นจะจัดเป็นสีส้ม ให้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ ส่วนผู้ป่วยสีเขียวซึ่งอาการน้อย ดูแลในชุมชน เมื่อดีขึ้นจัดเป็นสีเขียวอ่อน จะได้รับการติดตามอย่างต่อเนื่อง และฟื้นฟูสมรรถนะทางสังคม เพื่อกลับเข้าสู่สังคมได้ตามปกติ ซึ่งหน่วยบริการต่างๆ จะได้มีการปรับระบบต่อไป” นายแพทย์โอภาสกล่าว
โดยในการประชุมครั้งนี้ นอกจากบุคลากรผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติดจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้ทรงคุณวุฒิของหน่วยงานต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในด้านนโยบาย กระบวนการบำบัดรักษา การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยยาเสพติด การลดอันตรายจากยาเสพติด ระบบส่งต่อเพื่อการดูแลผู้ป่วยอย่างครอบคลุม เกิดการบูรณาการและสนับสนุนการทำงานในพื้นที่ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ยังเป็นโอกาสในการเผยแพร่ผลงานวิจัย องค์ความรู้ และนวัตกรรมด้านการดูแลผู้ป่วยยาเสพติด ครอบครัวและชุมชน รวมทั้งยังมีการประกวดศูนย์คัดกรอง สถานพยาบาลยาเสพติด สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม และการประกวดผลงานวิชาการยาเสพติดดีเด่น ซึ่งทั้งหมดสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทในพื้นที่ได้อย่างดี