สภาผู้บริโภค ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย 10 สถาบันการศึกษา ปลุกพลัง Gen Z ร่วมกิจกรรมภายใต้โครงการ “มิตรสู้มิจ – ภาคีมหาวิทยาลัยขับเคลื่อนสังคม เสริมภูมิคุ้มกันภัยมิจฉาชีพออนไลน์”
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) กล่าวถึงสถานการณ์ “ภัยกลโกงออนไลน์” ในเวทีระดมพลังผู้บริโภคเมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา โดยระบุถึงข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ว่ากลโกงออนไลน์ในปัจจุบันเริ่มต้นจากการที่มิจฉาชีพหลอกลวงให้ผู้บริโภคโอนเงินผ่านเอทีเอ็มไปยังบัญชีของมิจฉาชีพ ต่อมาเมื่อผู้บริโภคใช้แอปพลิเคชันโมบายแบงก์กิ้ง (Mobile Banking) มากขึ้น ทำให้มิจฉาชีพสามารถเข้าถึงบัญชีของเหยื่อและดูดเงินโดยตรง จนทำให้ความเสียหายขยายตัวอย่างรวดเร็วและกระทบต่อผู้บริโภคจำนวนมาก
ข้อมูลจาก Digital 2024 Report ชี้ให้เห็นว่า ภาพรวมประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการทำธุรกรรมออนไลน์มากที่สุดในโลก นอกจากนี้ รายงานจาก We Are Social ปี 2024 ระบุว่าคนไทยใช้เวลาในโลกออนไลน์เฉลี่ยถึง 7.58ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งสภาพการณ์ดังกล่าวทำให้มิจฉาชีพสามารถแฝงตัวและสร้างรูปแบบกลโกงใหม่ ๆ ในโลกออนไลน์ได้ง่ายขึ้น
เพื่อตอบสนองต่อปัญหานี้ สารี ระบุว่า สภาผู้บริโภคได้เสนอแนวทางการป้องกันและแก้ไขที่ครอบคลุมหลายมิติ ทั้งการรณรงค์ให้ความรู้ การให้คำปรึกษาและช่วยเหลือผู้บริโภค การเจรจาไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้ง รวมถึงการฟ้องร้องในนามของผู้บริโภค นอกจากนี้ สภาผู้บริโภคยังทำงานร่วมกับเครือข่ายองค์กรสมาชิก นักวิชาการ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนากลไกที่ช่วยลดความเสี่ยงจากภัยออนไลน์ โดยเน้นด้านการเงิน การธนาคาร รวมถึงการป้องกันความเสียหายจากการซื้อขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
ทั้งนี้ โครงการฯ ที่ร่วมกับภาคีเครือข่าย 10 สถาบันการศึกษาในครั้งนี้ คือ การส่งเสริมเยาวชนให้ร่วมผลิตสื่อสร้างสรรค์ที่สะท้อนปัญหาภัยกลโกงออนไลน์ ซึ่งเป็นภัยที่สร้างความเสียหายในวงกว้างแก่ผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน โดยสภาผู้บริโภคมองว่า การสร้างความรู้และภูมิคุ้มกันให้แก่เยาวชนซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความคิดสร้างสรรค์และมีทักษะด้านเทคโนโลยีที่ดี จะช่วยเสริมสร้างเครือข่ายการเผยแพร่ความรู้ไปสู่กลุ่มเสี่ยงอื่น ๆ อาทิ กลุ่มเยาวชน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเปราะบาง เป็นต้น
“สภาผู้บริโภคเชื่อว่าการป้องกันภัยออนไลน์ที่ได้ผลคือการสร้างความรู้และภูมิคุ้มกันให้ผู้บริโภค โดยเฉพาะเยาวชน ซึ่งนอกจากจะเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการเรียนรู้เทคโนโลยีอย่างรวดเร็วแล้ว ยังสามารถถ่ายทอดความรู้นี้ต่อไปยังกลุ่มผู้บริโภคที่อาจตกเป็นเหยื่อของกลโกงออนไลน์ได้อีกด้วย”สารี ระบุ
ด้าน ผศ.อรรถญา พิกุลพารุ่งโรจน์ รองคณบดีวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ปัจจุบันภัยจากโลกออนไลน์ได้แผ่ขยายไปยังสังคมออนไลน์อย่างรวดเร็วมากขึ้นทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนเริ่มมีการใช้สื่อสังคมออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงควรมีความรู้เท่าทันภัยออนไลน์ต่าง ๆ ที่มาจากสื่อ ไม่เพียงเป็นการแก้ปัญหาแต่ยังสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้แก่เยาวชนจากภัยร้ายที่แฝงมากับสื่อและเทคโนโลยีการสื่อสารรูปแบบใหม่ จึงเกิดเป็นโครงการ “มิตรสู้มิจ – ภาคีมหาวิทยาลัยขับเคลื่อนสังคม เสริมภูมิคุ้มกันภัยมิจฉาชีพออนไลน์” เพื่อให้เด็กและเยาวชนเกิดความเข้าใจและตระหนักถึงภัยเงียบที่แอบแฝงมากับสื่อเทคโนโลยี
ทั้งนี้ มีการร่วมกับเครือข่ายสถาบันการศึกษา 10 สถาบัน ได้แก่ 1) มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ภาคเหนือตอนบน 2) มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก ภาคเหนือตอนล่าง 3) มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4) มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ภาคตะวันออก 5) มหาวิทยาลัยรามคำแหง กรุงเทพมหานคร 6) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ กรุงเทพมหานคร 7) มหาวิทยาลัยรังสิต จังหวัดปทุมธานี ภาคกลาง 8) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ภาคกลาง 9) มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม จังหวัดนครปฐม ภาคตะวันตก 10) มหาวิทยาลัยทักษิณ จังหวัดสงขลา ภาคใต้ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างเครือข่ายสถาบันการศึกษา 10 สถาบันและสภาผู้บริโภคในการร่วมกันสื่อสาร สนับสนุน และส่งเสริมประเด็นสิทธิผู้บริโภคให้แก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป ในการร่วมกันส่งเสริม สร้างความตระหนักและการรู้เท่าทันสื่อ “ภัยกลโกงออนไลน์” ให้แก่เยาวชน บุคคลแวดล้อมรอบตัวและประชาชนทุกกลุ่ม
ขณะที่ นางสาวพรทิพย์ รอดอินทร์ ตัวแทนนักศึกษามหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ปัจจุบันภัยออนไลน์มีเยอะมาก และมิจฉาชีพก็มีกลยุทธ์การหลอกลวงที่หลากหลายรูปแบบมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคถูกหลอก โดนโกงจำนวนมาก การที่มีโอกาสได้เป็นตัวแทนของนักศึกษามาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ทำให้ได้รู้จักสภาผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้แทนผู้บริโภคที่จะคอยช่วยเหลือผู้บริโภคตั้งแต่รับเรื่องร้องเรียน เจรจาไกล่เกลี่ย ไปจนถึงเป็นตัวแทนฟ้องร้องคดี ซึ่งก็จะนำข้อมูลความรู้ต่าง ๆ ที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมไปสร้างสรรค์สื่อเพื่อเป็นประโยชน์ และเป็นการเตือนภัยให้แก่ผู้บริโภครู้เท่าทันภัยออนไลน์ต่อไป
นายภานุวัฒน์ ยอดหล้า ตัวแทนนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กล่าวว่า การร่วมกิจกรรมครั้งนี้ทำให้รู้ว่าประเด็นปัญหาภัยออนไลน์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันสร้างความเสียหายมากมาย และยังมีสภาผู้บริโภคที่พร้อมจะช่วยเหลือผู้บริโภค ขอเพียงแค่อย่าปล่อยปละละเลยหากเราตกเป็นผู้เสียหาย ให้ออกมาเรียกร้องสิทธิ์ของตนเอง ซึ่งสภาผู้บริโภคพร้อมจะช่วยในทุกด้าน ทั้งนี้ จะนำความรู้ที่ได้รับจากกิจกรรมนี้ไปต่อยอดเป็นโครงการรู้เท่าทันภัยมิจฉาชีพออนไลน์ที่มหาวิทยาลัยเพื่อให้กลุ่มเพื่อนนักศึกษาและประชาชนทั่วไปได้รู้จักสภาผู้บริโภคและรู้เท่าทันภัยออนไลน์
นางสาวกัญญาณัฐ ศรีคำ ตัวแทนนักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การถูกหลอก โดนโกงจากมิจฉาชีพบางครั้งก็มาจากความเชื่อใจ ใช้ความกลัวของเรามาหลอกเรา และมีรูปแบบในการหลอกลวงที่หลากหลายจนบางครั้งเราตามกลโกงนั้นไม่ทัน ทำให้ตกเป็นผู้เสียหายได้ง่าย ซึ่งการมาเข้าร่วมกิจกรรมนี้ทำให้ได้ความรู้เกี่ยวกับการทำสื่อ เทคนิคการเล่าเรื่อง การทำคอนเทนต์เกี่ยวกับภัยออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อนำไปต่อยอดในการทำสื่อเตือนภัยผู้บริโภค และแนะนำช่องทางการติดต่อของสภาผู้บริโภคในการช่วยเหลือผู้บริโภคต่อไป