รมว.พิมพ์ภัทรา ผลักดัน กระทรวงอุตฯ จับมือ ผู้ว่าฯ จ.มิเอะ ต่อยอดความร่วมมือ “ศูนย์นวัตกรรมจังหวัดมิเอะ – ประเทศไทย” เดินหน้าชูนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต ยกระดับเกษตรอุตสาหกรรมแปรรูป ฉลองครบรอบ 5 ปี

กรุงเทพฯ 11 มกราคม 2567 – นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดมิเอะ ประเทศญี่ปุ่น ผลักดันต่อยอดความบันทึกความเข้าใจ (MOU) ขยายกรอบการทำงาน (Framework Agreement) ชูนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต ยกระดับเกษตรอุตสาหกรรมแปรรูป พร้อมจัดงานใหญ่ “นวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต Mie – Thailand” ฉลองความสำเร็จครบรอบ 5 ปี พาเหรดผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมอาหารชื่อดังจากจังหวัดมิเอะ นำทัพสินค้าอาหารเกรดพรีเมี่ยมมาให้ชม ชิม และจับคู่ธุรกิจภายในงาน ตั้งเป้าต่อยอดพัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์อาหารแห่งอนาคตร่วมกัน หวังเกิดการค้า การลงทุนระหว่างไทย – ญี่ปุ่น และคาดว่าจะสามารถเพิ่มสัดส่วนส่งออกกลุ่มสินค้าอาหารแปรรูปของไทยเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 60 หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.32 ล้านล้านบาท ภายในปี 2570

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ประเทศไทยและญี่ปุ่น มีความสัมพันธ์และความร่วมมือในทุก ๆ มิติมาอย่างยาวนาน ซึ่งปัจจุบันญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย เห็นได้จากการลงทุนของญี่ปุ่นในประเทศไทยมีมูลค่ากว่าร้อยละ 40 ของการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมด ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม จึงให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นในการส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของสองประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารที่ได้มุ่งเน้นยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันระดับเวทีโลกผ่านศูนย์นวัตกรรมมิเอะ – ประเทศไทย (Mie-Thailand Innovation Center) ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม สถาบันอาหาร และจังหวัดมิเอะ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งนับเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้ดียิ่งขึ้น และสามารถช่วยผลักดันให้การส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารแปรรูปของไทยเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งคาดว่าไทยจะมีสัดส่วนการส่งออกกลุ่มสินค้าอาหารแปรรูปเพิ่มขึ้นร้อยละ 60 หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.32 ล้านล้านบาท ภายในปี 2570d

ขณะเดียวกัน กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ต่อยอดความร่วมมือกับจังหวัดมิเอะในการมุ่งเน้นพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมอาหารทั้งในด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลและการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านนวัตกรรมอาหาร เพื่อช่วยยกระดับความสามารถการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทย และเสริมสร้างความแน่นแฟ้นของการเชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสาหกรรมของทั้ง 2 ประเทศ ให้สามารถก้าวหน้าไปด้วยกันในลักษณะ win-win นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมมีความยินดีที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการค้า การลงทุนระหว่างไทยและญี่ปุ่น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการของทั้ง 2 ประเทศ

นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับศูนย์นวัตกรรมมิเอะ – ประเทศไทย จัดตั้งขึ้นในปี 2561 นับเป็นหนึ่งในเครือข่ายของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ITC) ที่กระทรวงอุตสาหกรรมมอบหมายสถาบันอาหารดำเนินการ โดยได้ติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับการแปรรูปอาหารที่ได้รับจาก บริษัท ซูเอฮิโระ อีพีเอ็ม (SUEHIRO EPM) ประเทศญี่ปุ่น เพื่อช่วยยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการไทยในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารต้นแบบให้มีศักยภาพและเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร ดังนั้น ศูนย์นวัตกรรมฯ นี้ ถือเป็นกรณีความสำเร็จที่มีนัยสำคัญที่เป็นผลลัพธ์จากการร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในปี 2558 ระหว่าง กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม และจังหวัดมิเอะ

สำหรับการจัดงานในวันนี้เป็นการขยายความร่วมมือโดยการแลกเปลี่ยนกรอบการทำงาน (Framework Exchange) ระหว่างดีพร้อมและจังหวัดมิเอะ เพื่อต่อยอดความร่วมมือจากใน MOU ที่มุ่งเน้นการขยายโอกาสธุรกิจของเอสเอ็มอีทั้ง 2 ประเทศสู่ระดับสากล ด้วยการพัฒนาสินค้าอาหารและเกษตรแปรรูป ทักษะบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม นวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต ยกระดับเกษตรอุตสาหกรรมแปรรูป ตลอดจนเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมทั่วโลก เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเตรียมพร้อมรับกระแสความเปลี่ยนแปลงในบริบทต่าง ๆ และอยู่รอดได้ในโลกยุคใหม่อย่างมั่นคงและยั่งยืน

นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ศูนย์นวัตกรรมมิเอะ – ประเทศไทย ได้ดำเนินกิจกรรมทางวิชาการร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง และการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากการใช้เครื่อง Twin Screw Extruder เพื่อช่วยยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการไทยในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารต้นแบบให้มีศักยภาพและเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร และกิจกรรมอื่นๆ อาทิ การจัดแสดงผลิตภัณฑ์อาหารที่พัฒนาด้วยเทคโนโลยีจากเครื่อง Twin Screw Extruder ณ งาน THAIFEX 2019 การเข้าร่วมงานสัมมนาที่จังหวัดมิเอะ รวมทั้งนำผู้ประกอบการไทยร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) และสร้างเครือข่ายกับผู้ซื้อของประเทศญี่ปุ่น ณ จังหวัดมิเอะ

โดยล่าสุดได้ร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืช จาก Isolate soy protein กับ Pea starch และนำมาทดลองปรุงอาหารเป็นเมนูกระเพาะปลาน้ำแดง เพื่อสอดรับแนวโน้มกระแสอาหาร Plant-based ที่กำลังมาแรง ซึ่งคาดว่าระหว่างปี 2566 – 2576 ตลาดโลกจะเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงถึงร้อย 12.2 โดยในปี 2566 ที่ผ่านมามีมูลค่าสูงถึง 11.3 พันล้านดอลลาร์

นอกจากวันนี้จะเป็นการฉลองความสำเร็จ 5 ปี ในการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมฯ แล้ว จังหวัดมิเอะยังได้นำคณะผู้แทนด้านเศรษฐกิจซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จังหวัดมิเอะ และผู้ประกอบการ จำนวน 14 ราย เข้าร่วมกิจกรรมเจราจาธุรกิจ (Business Matching) พร้อมบรรยายความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเครื่องจักรแปรรูปอาหารและเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างจังหวัดมิเอะ – ไทย ตลอดจนการสาธิตการปรุงอาหารจากวัตถุดิบที่มีชื่อเสียงของจังหวัดมิเอะ อาทิ เนื้อวัว ปลาดิบ เบียร์ และขนม นอกจากนี้ ยังจัดแสดงผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปอื่น ๆ ของจังหวัดมิเอะอีกด้วย นางศุภวรรณ กล่าวทิ้งท้าย

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published.