“ภูมิธรรม” มอบนโยบาย 7 ยุทธศาสตร์ ขับเคลื่อนกระทรวงพาณิชย์

ที่กระทรวงพาณิชย์ – วันที่ 14 ก.ย. 2566 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายกระทรวงพาณิชย์และให้นโยบายทูตพาณิชย์ โดยมี 7 ยุทธศาสตร์สำคัญในการขับเคลื่อน คือ 1.“ลดค่าใช้จ่าย-เพิ่มรายได้-ขยายโอกาส” มุ่งเน้นการรดน้ำที่รากดูแลคนตัวเล็ก เพื่อให้เกิดผลต่อการเพิ่มเงินในกระเป๋าให้กับประชาชน 2.บริหารให้เกิดความสมดุลระหว่างประชาชนผู้บริโภค เกษตรกรผู้ผลิต และผู้ประกอบการภาคธุรกิจ โดยให้ทุกฝ่ายสามารถดำรงชีวิตและดำเนินธุรกิจไปด้วยกันได้ สร้างผลประโยชน์ที่ได้รับด้วยกันทุกฝ่าย 3.การทำงานเชิงรุกและบูรณาการการทำงานร่วมกันของพาณิชย์จังหวัดและทูตพาณิชย์ ด้วยการวางแผนยุทธศาสตร์อย่างครบวงจรร่วมกัน ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อ “รักษาตลาดเดิม เสริมตลาดใหม่” 4.แก้ไขข้อจำกัดของกฎหมายเก่าที่ล้าสมัยเป็นอุปสรรคทางการค้าเพื่อสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ สร้างและบัญญัติกฎหมายใหม่ๆเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก รวมทั้งการพัฒนาของเทคโนโลยี AI 5.ขับเคลื่อนนโยบาย Digital wallet ให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ การเชื่อมโยงฐานข้อมูลช่องทางการตลาดที่กระทรวงพาณิชย์ส่งเสริม เพื่อให้การใช้งาน Digital wallet ของประชาชนในพื้นที่ไม่เกิน 4 กม.สะดวกมากยิ่งขึ้น 6.เร่งขยับตัวเลขการส่งออก เปลี่ยนจากติดลบให้เป็นบวก สร้างกระแสใช้ประโยชน์จาก Soft power ของไทย และสร้าง Story ให้กับให้สินค้าและบริการไทยเชื่อมโยงกับภาคบริการ และ 7.ผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์จาก FTA รวมทั้งการปรับตัวเพื่อรองรับ และส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทยในมาตรฐานความยั่งยืนที่เป็นกรอบกติกาใหม่ของโลก

นายภูมิธรรม กล่าวว่านโยบาย “ลดค่าใช้จ่ายเพิ่มรายได้ขยายโอกาส” นั้นเราจะมุ่งเน้นการรดน้ำที่รากดูแลคนตัวเล็ก โดยลดค่าใช้จ่ายประชาชนโดยเพิ่มทางเลือกในการบริโภคและกระจายสินค้าที่มีคุณภาพ ราคาเป็นธรรมเน้นให้บริโภคสินค้า ร้านค้าที่อยู่ในชุมชนเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ส่วนเกษตรกรและผู้ประกอบการเราจะช่วยดูแลต้นทุนการเพาะปลูกของเกษตรกร เช่น ค่าปุ๋ย ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าเครื่องจักร และต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการโดยส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ส่วนการเพิ่มรายได้นั้นจะเพิ่มความรู้ด้านการค้าขายให้แก่ประชาชนโดยเชื่อมโยงกับนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ทักษะเพื่อให้เกิดอาชีพและมีรายได้สร้างความเข้มแข็งให้ฐานราก และการขยายโอกาสโดยปรับปรุง/พัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการค้าและการลงทุนในประเทศ เพิ่มช่องทางการค้าใหม่ๆโดยเฉพาะช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สร้างโอกาสการเข้าถึงตลาดผ่านกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของกระทรวงพาณิชย์ทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น เช่น จัดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการได้จัดแสดงสินค้า

ทั้งนี้ การทำงานเชิงรุกและบูรณาการการทำงานร่วมกันของพาณิชย์จังหวัดและทูตพาณิชย์นั้น จะมีการวางแผนยุทธศาสตร์หรือแผนบริหารจัดการสินค้าอย่างครบวงจรร่วมกัน ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อ“รักษาตลาดเดิม เสริมตลาดใหม่” สนับสนุนการเพิ่มบทบาท “พาณิชย์คู่คิด SME” ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กให้สามารถส่งออกได้ อาทิ การให้คำปรึกษาในด้านกฎระเบียบการนำเข้าของตลาดต่างประเทศเชิงลึก เช่น การจัดตั้งบริษัท การจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาในตลาดเป้าหมายและสร้างเครือข่ายพันธมิตร โดยการจัดทำคู่มือภาษาไทยที่เข้าใจง่าย

นายภูมิธรรม กล่าวด้วยว่ารัฐบาลจะเร่งสนับสนุนการสร้างกระแสและใช้ประโยชน์จาก Soft power ของไทย และสร้าง Story ให้กับให้สินค้าและบริการไทยเชื่อมโยงกับภาคบริการ เช่น ร้านอาหาร ภาพยนตร์ แอนิเมชั่น และการท่องเที่ยว โดยจัดทำข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน และวิเคราะห์ความต้องการของตลาดทั่วโลก ข้อมูลเชิงลึกพฤติกรรมผู้บริโภควิถีชีวิต pain point ในแต่ละกลุ่มเป้าหมายเพื่อนำมาพัฒนาสินค้าให้ตอบสนองความต้องการของแต่ละกลุ่มเป้าหมาย และจัดทำกลยุทธ์ส่งเสริมการตลาด ตลอดจนการมุ่งเน้นการขจัดปัญหาคอขวดที่เป็นอุปสรรคต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อให้สินค้าไทยเข้าถึงตลาดในต่างประเทศรวดเร็วในราคาที่แข่งขันได้ โดยการคัดเลือกสินค้าประเภทที่มีปัญหาไม่ซับซ้อนสามารถแก้ไขข้อจำกัดได้ไม่ยากจัดทำเป็นตัวอย่างนำร่อง

“กระทรวงพาณิชย์จะผลักดันและสร้างระบบนิเวศในการยกระดับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทยเป็น Logistics Hub ของภูมิภาค สามารถขยายธุรกิจและบริการไปในประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค นอกจากจะสร้างขีดความสามารถให้กับสินค้าไทย ยังเป็นการนำเงินตราเข้าประเทศ และเป็นการยกระดับประเทศไทยเป็น Logistics Hub ของภูมิภาคอย่างแท้จริง พร้อมกันนั้นจะผลักดันให้ประเทศไทยได้ใช้ประโยชน์จาก FTA รวมทั้งการปรับตัวเพื่อรองรับ และส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทยในมาตรฐานความยั่งยืนที่เป็นกรอบกติกาใหม่ของโลก โดยสร้างความรู้ความเข้าใจและความตระหนักรู้ให้แก่ผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายเล็ก และเตรียมความพร้อม ให้ดำเนินธุรกิจสอดรับกับกฎกติกาใหม่ ๆ ของโลก เช่น Carbon Credit /BCG / SDGs โดยการสร้างผู้ประกอบการไทยเพื่อพัฒนากระบวนการผลิตและสร้างสินค้าแบรนด์ไทยที่สอดคล้องกับมาตรฐานความยั่งยืนด้านต่างๆ ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ในประเทศ รัฐบาลจะจัดทำ Matching Fund ซึ่งเป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐบาลและเอกชน เพื่อลงทุนพัฒนา Start-up ที่มีศักยภาพให้เติบโตและแข่งขันได้ในระดับโลก สร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจใหม่อย่างมั่นคงและยั่งยืน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวย้ำ

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published.