พช. ประชุมออนไลน์ หลักเกณฑ์การเลื่อนบุคคล ด้วยความบริสุทธิ์ และยุติธรรม

วันที่ 2 พฤษภาคม 2566 เวลา 09.00 น. นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน มอบหมายให้ นายชูชีพ พงษ์ไชย รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานการประชุมชี้แจงแนวทางการจัดทำผลงานทางวิชาการเพื่อเลื่อนขึ้นในตำแหน่งที่สูงขึ้น ผ่านระบบทางไกล Video Conference (Cisco WebEX) โดยมีนายเกียรติปราโมทย์ ฉายศรี ผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ พร้อมด้วยนายประทีป รัศมีเดือน ผู้อำนวยการกลุ่มงานสรรหาและประเมินบุคคล เจ้าหน้าที่กองการเจ้าหน้าที่ และกลุ่มเป้าหมายในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมจำนวน 341 ราย เข้าร่วมประชุมฯ ณ ห้องประชุม war room ชั้น 5 กรมการพัฒนาชุมชน

นายชูชีพ พงษ์ไชย รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้กล่าวชี้แจงการเขียนผลงานทางวิชาการเพื่อเลื่อนในตำแหน่งที่สูงขึ้น และการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้ให้ความสำคัญกับบุคลากรเป็นอย่างยิ่ง พร้อมส่งเสริมสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดทุกรายมีความก้าวหน้าในสายงานและพร้อมให้การสนับสนุนในการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถพร้อมที่จะเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจของกรมให้บรรลุผลสัมฤทธิ์เป้าหมายภารกิจของกรม พร้อมขอให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคในทุกจังหวัด ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความถูกต้อง โปร่งใส บริสุทธิ์ และยุติธรรม ตามที่ ก.พ. กำหนด

ด้าน นายเกียรติปราโมทย์ ฉายศรี ผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ กล่าวบรรยายเส้นทางความก้าวหน้าและการบริหารทรัพยากรบุคคล โดยกล่าวถึงกระบวนการบริหารทรัพยากรบุคคลซึ่งได้เริ่มจาก 1) การสรรหา ซึ่งหมายถึงการหาคัดเลือก คนดี คนเก่งมี ความรู้ ความสามารถเข้ามาทำงาน 2) การพัฒนา โดยวางเป้าหมายกำหนดตำแหน่งที่ต้องการก้าวไป เพื่อทำให้เกิดการพัฒนา ทั้งด้านความรู้ ความสามารถ และทักษะของตนเอง 3) การรักษาไว้ โดยกำหนดวางให้เห็นเส้นทางความก้าวหน้าที่ชัดเจน จะช่วยสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติงานและสร้างขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่ในสังกัด และ 4) การใช้ประโยชน์ โดยส่งเสริมสนับสนุนการทำงานที่มีประสิทธิภาพตามภารกิจงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์ของงานและบริหารจัดการทรัพยากรให้เหมาะสม พร้อมทั้งได้ตั้งข้อสังเกตจากการเลื่อนข้าราชการพลเรือนสามัญที่ผ่านมา โดยสรุปได้ ดังนี้ 1) มีการคัดลอกและนำผลงานของบุคคลอื่นมานำเสนอเป็นผลงานของตนเอง 2) การจัดทำผลงานไม่เป็นไปตามกรอบแนวทางที่กำหนด อาทิเช่น การนำเสนอเนื้อหาไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามกรอบแนวทางการนำเสนอที่กำหนด การนำเสนอเนื้อหาไม่สอดคล้องและเชื่อมโยงกัน การจัดทำรูปเล่มเอกสารไม่เป็นระเบียบ ไม่คมชัด และ 3) การอ้างอิงแนวคิด ทฤษฎี เช่น ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา แนวคิด ทฤษฎีเดิมไม่ใช่ปัจจุบัน แนวคิด ทฤษฎีมากกว่าเนื้อหาผลงานและข้อเสนอ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้เข้ารับการประเมินทุกท่านจัดทำเอกสารผลงานอย่างถูกต้อง และมีคุณภาพสามารถเป็นต้นแบบผลงานทางวิชาการและการนำไปปฏิบัติงานในพื้นที่ พร้อมเน้นย้ำการเขียนเอกสารผลงานประกอบการประเมินบุคคลและมาตรการในการป้องกันและลงโทษผู้แจ้งข้อมูลเท็จเกี่ยวกับคุณสมบัติและผลงานของบุคคลในการขอรับการประเมินบุคคลขอให้จัดทำเอกสารผลงานด้วยความระมัดระวัง โดยไม่แจ้งคุณสมบัติบุคลเป็นเท็จ ไม่แจ้งสัดส่วนการทำผลงานเป็นเท็จ ไม่ลอกเลียนผลงาน ไม่นำผลงานผู้อื่นมาเป็นผลงานของตน และไม่การจ้างวานผู้อื่นจัดทำผลงาน อีกด้วย

จากนั้นช่วงบ่าย เป็นการบรรยาย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเลื่อนข้าราชการ ฯ ประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการ และ ประเภททั่วไป ระดับชำนาญงาน โดยนายประทีป รัศมีเดือน และนายกิตติศักดิ์ พูลนุช วิทยากรกองการเจ้าหน้าที่ และ บรรยายหัวข้อ แนวทางการเขียนผลงานทางวิชาการและกรณีศึกษา ประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการ และประเภททั่วไป ระดับชำนาญงาน โดย นางสาวศนิชา เหล่าชัย และนายชัยทวัตน์ ดำศรีสวัสดิ์ วิทยากรผู้เชี่ยวชาญกรมการพัฒนาชุมชน

ทั้งนี้ กองการเจ้าหน้าที่ กรมการพัฒนาชุมชน ได้จัดกิจกรรมพัฒนาประสิทธิภาพการประเมินบุคคลเพื่อเลื่อนขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้น ประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการ และประเภททั่วไป ระดับชำนาญงาน กิจกรรมที่ 1 ประชุมชี้แจงแนวทางการจัดทำผลงานทางวิชาการเพื่อเลื่อนขึ้นในตำแหน่งที่สูงขึ้น เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจหลักเกณฑ์ และวิธีการในการปฏิบัติงาน เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ สะท้อนปัญหาอุปสรรค และเสนอแนะความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรบุคคล เสริมสร้างพลังในการขับเคลื่อนภารกิจงานของกรมการพัฒนาชุมชนให้เป็นไปอย่ามีประสิทธิภาพต่อไป

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published.