กระทรวงดิจิทัลฯ Kick off โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มภาครัฐ เพื่อรองรับการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (GPPC)

วันนี้ (4 มกราคม 2566) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ร่วมกันจัดงานสัมมนาประชาสัมพันธ์เปิดตัว (Kick off) โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มภาครัฐ เพื่อรองรับการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Government Platform for PDPA Compliance : GPPC) โดยมีผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้งนักวิชาการเข้าร่วมงานกว่า 300 คน

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวภายหลังเป็นประธานในการเปิดงานสัมมนาประชาสัมพันธ์เปิดตัว (Kick off) โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มภาครัฐ เพื่อรองรับการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Government Platform for PDPA Compliance : GPPC) ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ ชั้น 4 โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการ และ คอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ว่า จากการที่ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ได้มีผลบังคับโดยสมบูรณ์เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ กลไก หรือมาตรการกำกับดูแลเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งมีลักษณะเป็นกฎหมายกลาง ที่ครอบคลุมการดำเนินการของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่ทำการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับเงื่อนไขตามที่ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 กำหนด ส่งผลให้ทุกหน่วยงานรวมถึงภาครัฐต้องทำความเข้าใจต่อกฎหมาย การดูแลเรื่องความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคล รวมทั้งการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับบุคลากรของหน่วยงาน

“เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับทุกภาคส่วน ในการปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงได้จัดทำ (ร่าง) นโยบายการพัฒนาแพลตฟอร์มภาครัฐเพื่อรองรับการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว ในคราวการประชุมครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 เพื่อเป็นกรอบทิศทางและเป้าหมายการพัฒนาแพลตฟอร์มฯ ช่วยสนับสนุนการดำเนินการด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ เงื่อนไขตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อให้บริการหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ลดภาระด้านงบประมาณในภาพรวมของภาครัฐ รวมทั้ง สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) โดยมอบหมาย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) และสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ร่วมกันดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาแพลตฟอร์มภาครัฐเพื่อรองรับการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ให้เกิดความยั่งยืน รวมทั้ง การขยายผลการใช้งานแพลตฟอร์มฯ ให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนต่อไป รวมถึงเห็นชอบในการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบให้ทุกส่วนราชการนำแพลตฟอร์มภาครัฐ เพื่อรองรับการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Government Platform for PDPA Compliance : GPPC) ไปใช้” นายชัยวุฒิ กล่าว

ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวเพิ่มเติมว่า แพลตฟอร์มที่ให้บริการในปัจจุบันล้วนเป็นแพลตฟอร์มของต่างประเทศซึ่งจะคิดค่าใช้จ่ายเป็นรายปี ทำให้หน่วยงานเมื่อเริ่มใช้แล้ว จะต้องตั้งงบประมาณผูกผันในปีต่อไปทุกปี ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน จึงเป็นเหตุผลหลักที่ผลักดันให้เกิดการพัฒนาแพลตฟอร์มภาครัฐเพื่อรองรับการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยคาดว่าโครงการนี้จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและงบประมาณของราชการได้กว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี และในอนาคตก็มีแนวโน้มจะจัดทำโครงการต่อเนื่องรองรับภาคเอกชน เปิดให้ผู้ประกอบการใช้งานแพลตฟอร์ม อำนวยความสะดวก เพื่อให้ผู้ประกอบการในภาคเอกชนสามารถนำไปใช้เพื่อดำเนินการให้สอดคล้องตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และพัฒนาต่อยอด open source ได้

ด้าน นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มภาครัฐเพื่อรองรับการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Government Platform for PDPA Compliance: GPPC) มีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อออกแบบและพัฒนาแพลตฟอร์มภาครัฐเพื่อรองรับการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และการใช้แพลตฟอร์มภาครัฐฯ ให้กับกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงศึกษาแนวทางการใช้เทคโนโลยีสนับสนุนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และกระบวนการติดตาม กำกับ การปฏิบัติตามในระดับนานาชาติ ทั้งนี้ ขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐเข้ามาร่วมเป็นหนึ่งใน 200 หน่วยงานเป้าหมายของโครงการนี้ ซึ่งจะได้ประโยชน์อย่างมาก ทั้งความรู้จากการจัดอบรมหลากหลายรูปแบบที่สร้างความเข้าใจในกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และได้แนวทางในการที่จะดำเนินการให้หน่วยงานเป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และยังได้ใช้งานแพลตฟอร์มภาครัฐฯ ที่อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติตามกฎหมายอีกด้วย โดยหน่วยงานที่สนใจสมัครเข้าร่วมสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ อีเมล support@gppc-support.in.th

นายศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กล่าวว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ กลไก หรือมาตรการกำกับดูแลเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็นหลักการทั่วไป ซึ่งครอบคลุมการดำเนินการของบุคคลหรือนิติบุคคลใดก็ตามที่ทำการเก็บรวมรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ในฐานะผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลหรือผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่ในราชอาณาจักร จะต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการดำเนินการตามข้อกำหนดของกฎหมาย เพื่อให้เกิดการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนไทยที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ดังนั้น หน่วยงานของรัฐที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลซึ่งมีภารกิจในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนในประเทศ จึงถือเป็นผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลที่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายนี้

ทั้งนี้ ตามหน้าที่และอำนาจในมาตรา 44 (5) และ มาตรา 44 (6) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ที่กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมีหน้าที่ประสานงานกับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น องค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานของรัฐและเอกชนเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติฯ ด้วยเหตุนี้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จึงได้ร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดทำโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มภาครัฐเพื่อรองรับการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Government Platform for PDPA Compliance: GPPC) ขึ้นเพื่อช่วยสนับสนุนการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐให้สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งการดำเนินการโครงการนี้ จะเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศในภาพรวมอีกด้วย

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published.