คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2537 กำหนดให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็น “วันนักประดิษฐ์” เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ที่ได้ทรงประดิษฐ์ “เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย” หรือกังหันน้ำชัยพัฒนา และทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2536 และเพื่อเป็นที่ระลึกในวาระการรับจดทะเบียน และถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ แด่พระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลก และทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญา “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย”
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะหน่วยงานกลางด้านการวิจัยและการประดิษฐ์คิดค้นร่วมกับ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรด้านการประดิษฐ์ ตลอดจนสถาบันการศึกษา ได้ร่วมกันสืบสานพระราชปณิธานตามแนวพระราชดำริสู่การรวมพลังในการขับเคลื่อนประเทศ สู่เส้นทางแห่งความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน โดยร่วมกันสนับสนุนผลงานเพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขัน และสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับนักประดิษฐ์ นักวิจัยไทย สามารถก้าวเข้าสู่เวทีในระดับโลกได้
สำหรับปีนี้ วช. ได้กำหนดจัดงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 256๔ และ ๒๕๖๕ ขึ้นระหว่าง วันที่ ๒ – ๖ กุมภาพันธ์ 256๕ ณ Event Hall 102 – 104 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ภายใต้แนวคิด “วิถีใหม่ ใส่ใจชีวิต สู่สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม” โดยภายในงานได้จัดให้มีการแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 “สืบสาน รักษา ต่อยอด สร้างสุขเพื่อประชาชน” และนิทรรศการน้อมรำลึกในหลวงรัชกาลที่ 9 “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” รวมทั้ง จัดแสดงนิทรรศการผลงานประดิษฐ์คิดค้นและนวัตกรรมทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ
นิทรรศการระดับชาติ อาทิ นิทรรศการผลงานที่ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ท่านจะได้รับชมความโดดเด่นและผลงานการประดิษฐ์คิดค้นจากฝีมือของนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยที่ได้รับรางวัล นิทรรศการผลงานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทยและบัญชีนวัตกรรมไทย นิทรรศการผลงานจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนสถาบันการศึกษา ทั้งในด้านความมั่นคง การเกษตร อุตสาหกรรม นวัตกรรมการเรียนรู้ นวัตกรรมสำหรับผู้สูงวัยและผู้พิการ และนวัตกรรมสีเขียว เป็นต้น รวมจำนวนกว่า 1,000 ผลงาน จากกว่า ๑๐๐ หน่วยงาน
- การประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมในระดับเยาวชน โครงการ Thailand New Gen Inventor Award 2021: I – New Gen Award 2021 จากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ทั้งระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา กว่า ๔๐0 ผลงาน
- การจัดประชุมเสวนาและการฝึกอบรมในหัวข้อต่าง ๆ
- การให้บริการปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญา
- การจัดจำหน่ายสินค้านวัตกรรมจากชุมชน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนขนาดกลางและขนาดย่อม
นิทรรศการระดับนานาชาติ มีหน่วยงานองค์กรด้านการวิจัยและนวัตกรรมของต่างประเทศเข้าร่วมจัดนิทรรศการกว่า ๒๐๐ ผลงาน จาก ๒๔ องค์กร 20 ประเทศ ซึ่งเป็น การนำเสนอผลงานในรูปแบบ Online Event
สำหรับการมอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ เป็นภารกิจสำคัญตามพันธกิจของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและ นวัตกรรม ที่มีขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรตินักวิจัยไทยที่มีผลงานโดดเด่น สร้างคุณูปการให้กับวงวิชาการและประเทศชาติ เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการสร้างแรงจูงใจแก่นักประดิษฐ์และนักวิจัยในการพัฒนานวัตกรรมทางความคิดและภูมิปัญญาที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งสร้าง ความก้าวหน้าในศาสตร์แขนงต่างๆ การมอบรางวัลดังกล่าวจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี นับตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2517 รวมระยะเวลาถึงปัจจุบันกว่า 4๗ ปี ถือเป็นรางวัลระดับชาติ ที่มีความเก่าแก่และเป็นที่ยอมรับมาอย่างยาวนาน ซึ่งเดิมใช้ชื่อรางวัลว่า “รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ” โดยแบ่งรางวัลออกเป็น 4 ประเภท
- รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ เป็นรางวัลที่มอบให้กับนักวิจัย ที่อุทิศตนให้กับการทำวิจัยในเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือหลายเรื่อง ในกลุ่มวิชาการหรือสหวิทยาการอย่างต่อเนื่องสะสมไม่น้อยกว่า 5 ปี มีผลงานวิจัยดีเด่นที่แสดงถึงความคิดริเริ่ม โดยผลงานวิจัยนั้นสร้างคุณูปการและเกิดประโยชน์ในเชิงวิชาการ เศรษฐกิจ ชุมชน สังคม และนโยบาย ทั้งเป็นผู้ที่มีจริยธรรมของนักวิจัย เป็นที่ยอมรับและยกย่องในวงวิชาการนั้น ๆ สมควรเป็น แบบอย่างแก่นักวิจัยอื่นได้
- รางวัลผลงานวิจัย เป็นรางวัลที่มอบให้กับผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการ และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ต้องไม่เป็นงานวิจัยที่ทำเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเพื่อรับปริญญาหรือประกาศนียบัตรใด ๆ เว้นแต่จะได้ทำการศึกษาวิจัยขยายผลต่อจากเรื่องเดิมอย่างต่อเนื่องจนปรากฏผลความก้าวหน้าทางวิชาการอย่างเห็นได้ชัด เป็นผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง ใช้วิธีวิเคราะห์หรือสังเคราะห์ที่เหมาะสม มีความชัดเจน และเป็นผลงานวิจัยที่สำเร็จสมบูรณ์ ได้รับการเผยแพร่ในวารสารระดับชาติหรือระดับนานาชาติ เป็นผลงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง
- รางวัลวิทยานิพนธ์ เป็นรางวัลที่มอบให้กับนักวิจัยที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก ทำงานวิจัยที่มีคุณภาพสูงเป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ เป็นวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาที่มีสัญชาติไทย ในหลักสูตรระดับปริญญาเอกของสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ซึ่งตีพิมพ์เป็นรูปเล่มและได้รับการอนุมัติ จากสถาบันการศึกษาแล้วย้อนหลังไม่เกิน 5 ปี และผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการสอบ วิทยานิพนธ์แล้ว เป็นผลงานที่มีคุณภาพ ใช้วิธีวิเคราะห์หรือสังเคราะห์ที่เหมาะสมยิ่ง มีความชัดเจน มีศักยภาพสูงต่อการนำไปใช้ในอนาคต ได้รับการเผยแพร่ในวารสารที่เป็นที่ยอมรับในวงวิชาการระดับชาติหรือระดับนานาชาติ
- รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น เป็นรางวัลที่มอบให้กับนักประดิษฐ์ที่สร้างสรรค์ผลงาน ผลผลิต ผลิตภัณฑ์ กรรมวิธี กระบวนการ วิธีการ มาตรการหรือระบบ ตลอดจนนวัตกรรม วิทยาการต่างๆ ที่ดีเด่น และพิสูจน์แล้วว่าเป็นประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ เป็นผลงานที่เกิดจากความคิดริเริ่มและความเพียรพยายามของผู้ประดิษฐ์คิดค้น ซึ่งเป็นของใหม่หรือปรับปรุงให้ดีขึ้น ทรัพยากรที่ใช้ในการประดิษฐ์คิดค้นส่วนใหญ่เป็นทรัพยากรที่มีในประเทศไทย มีคุณค่าทางวิชาการ มีศักยภาพในการพัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือนำไปใช้ประโยชน์ในทางอื่นได้
สำหรับปีงบประมาณ ๒๕๖๔ มีการให้รางวัล รวมทั้งสิ้น ๑๕๒ รางวัล ประกอบด้วย รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ จำนวน ๗ ท่าน รางวัลผลงานวิจัย จำนวน 4๒ ผลงาน รางวัลวิทยานิพนธ์ จำนวน 47 เรื่อง และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น จำนวน 5๖ ผลงาน
สำหรับปีงบประมาณ ๒๕๖๕ มีการให้รางวัล รวมทั้งสิ้น 157 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 10 ท่าน รางวัลผลงานวิจัย จำนวน 49 ผลงาน รางวัลวิทยานิพนธ์ จำนวน 43 เรื่อง และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น จำนวน 55 ผลงาน
ทั้งนี้ วช. โดยผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง) ได้กำหนดจัดให้มีพิธีมอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ในวันพุธที่ ๒ กุมภาพันธ์ 256๕ ในงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 256๔ – ๒๕๖๕ ซึ่งได้รับเกียรติจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้ปฏิบัติภารกิจแทน ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีและมอบรางวัลฯ ร่วมด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์) และปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ศาสตราจารย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล) สำหรับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ วช. จะได้ดำเนินการขอพระราชทานพระราชวโรกาสเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อรับพระราชทานรางวัลต่อไป
การจัดงาน “วันนักประดิษฐ์” ในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดี ที่นักประดิษฐ์ทุกระดับ จะได้มีเวทีสำหรับแสดงและเผยแพร่ผลงาน นำเสนอความรู้ความสามารถต่อสาธารณชน และได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สั่งสมประสบการณ์เพิ่มเติม อีกทั้งยังช่วยสร้างแรงจูงใจให้แก่เยาวชนและนักประดิษฐ์รุ่นใหม่ ในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน