สรรเสริญ หวังนำบทเรียนอังค์ถัด มาเสริมนโยบายกระทรวงพาณิชย์

ดร.สรรเสริญ สมะลาภา หวังผลจากเวทีสัมมนา อังค์ถัด-ไอทีดี โดยจะนำแนวคิดและมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก มาช่วยเสริมนโยบายของกระทรวงพาณิชย์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทย และมาใช้คาดการณ์ผลกระทบจากโลกาภิวัตน์ใหม่และการปฏิวัติอุตสาหกรรมรอบที่ 4 ระบุโลกตึงเครียดจากสงครามการค้าและลงทุนระหว่างประเทศ

ดร.สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวถึงการสัมมนาหัวข้อ “การค้า เทคโนโลยี และความตึงเครียดในอนาคต : โอกาสและภัยคุกคามไร้ขอบเขต” ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ไอทีดี เมื่อวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมาว่า จะนำบทสรุปและมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ บนเวทีสัมมนา มาสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ และนำมาช่วยผลักดันนโยบายสำคัญของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อาทิ การส่งออก การพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่ การพัฒนาภาคบริการ การหนุนการลงทุนด้านปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) รวมถึงการคาดการณ์ผลกระทบต่อผู้บริโภค และผลจากสงครามการค้ายุคใหม่

ทั้งนี้ ดร.สรรเสริญ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับ ดร.มูคิสะ คิทูยี เลขาธิการอังค์ถัด ร่วมเป็นประธานเปิดเวทีการประชุมทางวิชาการนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมวิชาการระดับภูมิภาคว่าด้วยการค้าและการพัฒนาประจำปี 2562 และเป็นการฉลองครบ 19 ปี ไอทีดี ซึ่งเป็นเจ้าภาพ โดยมีผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ จากทั่วโลกมาร่วมสะท้อนประเด็นที่อยู่ในกระแสสำคัญของโลก อาทิ ความตึงเครียดทางด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่กำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก พร้อมกับแนวโน้มการอุบัติขึ้นของเทคโนโลยีและนวัตกรรมรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นมากมาย โดยอังค์ถัด และไอทีดี คาดหวังผลจากเวทีสัมมนา จะกระตุ้นให้ประเทศในแถบภูมิภาคเอเชีย ร่วมกำหนดแผนปฏิบัติการการค้าและการลงทุนเพื่อสนองตอบต่อโลกยุคใหม่และการพัฒนาที่ยั่งยืน

สำหรับสภาวะโลกปัจจุบัน ไอทีดี รายงานว่า โลก กำลังเผชิญกับ กระแสโลกาภิวัตน์ที่รุนแรง (Hyper-Globalization) การปฏิวัติอุตสาหกรรม รอบที่ 4 (4th Industrial Revolution) การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) และปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) ซึ่งเป็นหนึ่งใน Mega Trends ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ และอาจส่งผลกระทบทางลบต่อสังคม เช่น เกิดความเหลื่อมล้ำ และการว่างงานที่สูงขึ้น แต่ก็นับว่าเป็นช่องว่างเปิดโอกาสสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ด้วยเหตุนี้ การเชื่อมโยงการค้า การลงทุน และการพัฒนาเข้าด้วยกันที่จะช่วยส่งเสริมให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้นั้น จะต้องอาศัยกระบวนทัศน์ และระบบการคิดใหม่ ทั้งในเชิงนโยบายและความร่วมมือภาคีเครือข่ายต่างๆ

โดยสรุปสาระสำคัญในการสัมมนาทั้ง 4 ช่วงได้ดังนี้

ช่วงที่ 1 การเตรียมก้าวเข้าสู่ปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่ไร้การใช้ธนบัตร (Demonetized Economy) ที่ต้องมีการออกข้อกฎหมายให้รองรับ และต้องศึกษาหาแนวทางสำคัญในการควบคุมและกำกับดูแลด้านการเงินให้กับรัฐบาลอื่นๆ ต่อไปในอนาคต

ช่วงที่ 2 ปัญญาประดิษฐ์ AI ความท้าทายใหม่ในโลกแห่งอนาคตที่จะช่วยกำหนดทิศทางของพัฒนาการของเศรษฐกิจการค้าและการลงทุน รวมถึงการพัฒนาต่างๆ เช่น ระบบการค้าพหุภาคี ความไม่เสมอภาคทางสังคม การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมไปถึงความวิตกกังวลว่า เราจะได้รับผลกระทบอย่างไรจาก AI

ช่วงที่ 3 สังคมอนาคตกับบริบทเทคโนโลยี ใครเป็นผู้กำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลง บทบาทของเทคโนโลยี ทั้งในเรื่องการสร้างงาน การให้สวัสดิการทางสังคม จนถึงคำถามสำคัญว่า เราจะต้องมีขีดความสามารถอะไรในยุคของ AI ตลอดจนนวัตกรรมใหม่ๆ และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ช่วงที่ 4 แบ่งปันมุมมองประสบการณ์กรณีตัวอย่างของการนำนโยบายด้านเทคโนโลยีและข้อกฎหมายมาใช้ เพื่อกำหนดนโยบายด้านการค้าและการพัฒนาของประเทศกำลังพัฒนา กรณีศึกษาที่น่าสนใจคือ การประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัลในการผลิตของภาคเกษตรและประมง ที่ช่วยลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ ดร.สรรเสริญ จะนำแนวคิดต่างๆมาช่วยเสริมนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ต่อไป

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *