ผู้บริโภคกว่าพันรายชื่อร่วมรณรงค์ให้ 4 ซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ ร่วมติด QR Code เผยแหล่งที่มาของส้ม มุ่งลดปัญหาความปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง

แคมเปญ “ผู้บริโภคที่รัก” (Dear Consumers) ขอความร่วมมือให้ซูเปอร์มาร์เก็ต 4 รายใหญ่ ร่วมตรวจสอบและติด QR Code เปิดเผยข้อมูลแหล่งที่มาของส้มที่นำมาจำหน่าย หลังจากสุ่มตัวอย่างพบสารเคมีอันตรายในส้มที่วางขายตกค้างเกินมาตรฐาน โดยได้รับการรับฟังและตอบรับจากห้างค้าปลีกส่วนใหญ่ในทิศทางที่ดี

จากการที่เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ ไทยแพน (Thai-PAN) ได้ดำเนินการสุ่มตรวจตัวอย่างส้มจากซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งในปี 2563 พบว่า ทุกตัวอย่างของส้ม 1 ผล มีสารเคมีตกค้างมากถึง 55 ชนิด ในปริมาณเฉลี่ย *0.364 มิลลิกรัม ซึ่งเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย (MRL) จากที่กฎหมายกำหนด โดยในจำนวนนี้ มีสารดูดซึมชนิดที่ไม่สามารถล้างออกได้ถึง 30 ชนิด อาทิ คาร์เบนดาซิม (Carbendazim) คาร์โบฟูราน (Carbofuran) อะเซตามิพริด (Acetamiprid) ฯลฯ ส่งผลโดยตรงต่อระบบประสาท เซลล์สมองและฮอร์โมนเพศ

นางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ตัวแทนจากมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) กล่าวว่ามูลนิธิได้ตระหนักถึงอันตรายของสารเคมีตกค้างที่มีต่อผู้บริโภคที่เลือกซื้อส้มจากซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่มีการคัดเกรดส้มผลใหญ่ ผิวสวย เรียบเนียน สีทองแวววาว ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคโดยทั่วไปเข้ามาจำหน่าย แต่สิ่งที่ผู้บริโภคบางส่วนอาจยังไม่ทราบก็คือเมื่อมองไปที่ต้นทางการผลิต เกษตรกรอาจมีการฉีดพ่นยาฆ่าแมลงและสารกำจัดศัตรูพืช ถึง 52 ครั้งต่อปี หรือทุกสัปดาห์ จนทำให้ส้มกลายเป็นผลไม้ที่แลกมาด้วยสุขภาพของคนกิน คนปลูก และสิ่งแวดล้อม”

โดยการรณรงค์เรียกร้อง ภายใต้แคมเปญ “ผู้บริโภคที่รัก” (Dear Consumers) ในครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือระหว่าง กินเปลี่ยนโลก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และองค์การอ็อกแฟม ประเทศไทย เพื่อเรียกร้องให้ซูเปอร์ฯ เจ้าใหญ่ อย่าง บิ๊กซี แม็คโคร โลตัส และ ท็อปส์ มีป้ายแสดงรายละเอียดสินค้า ณ จุดขาย และติด QR Code ที่ผู้ซื้อสามารถสแกนตรวจสอบแหล่งที่มา และความปลอดภัยของส้มที่นำมาขาย ซึ่งปัจจุบัน มีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องนี้ในโลกออนไลน์ผ่านเว็ปไซต์ http://Dearconsumers.comและ http://Change.org/ToxicOranges แล้ว 1,265 รายชื่อ

“โดยเราคาดหวังว่าว่าซูเปอร์มาร์เก็ตส่วนใหญ่จะสามารถตอบรับในการปฏิบัติตามข้อเรียกร้องนี้ได้ โดยปัจจุบันมีซูเปอร์มาร์เก็ตบางรายที่ได้เริ่มดำเนินการติด QR code แล้วบางส่วน แต่อาจยังใช้สามารถใช้งานได้จริงโดยหวังว่าในอนาคตจะมีการพัฒนาให้สามารถใช้ได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งจะเป็นแรงกระตุ้นให้เกษตรกรผู้ปลูกส้มและผลิตอาหารอื่นๆ ตระหนักถึงวิธีการในการทำเกษตรกรรมด้วยวิธีที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น” นางสาวกิ่งกรกล่าวเสริม

นางสาวฐานิตา วงศ์ประเสริฐ เจ้าหน้าที่งานรณรงค์ องค์การอ็อกแฟม ประเทศไทย และเจ้าของแคมเปญรณรงค์ฯ บน Change.org กล่าวว่า “ผู้บริโภคควรได้รับสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับที่มาของส้มที่ตนเองต้องการซื้อว่าเพาะปลูกจากสวนไหน จังหวัดอะไร ล็อตไหน ปลูกช่วงเดือนใด มีการใช้ยากำจัดศัตรูพืชหรือสารเคมีอะไรบ้าง ในปริมาณเท่าไหร่ และก่อนที่จะนำมาจัดจำหน่ายมีกระบวนการคัดเลือกสินค้าอย่างไร”

โดยที่ผ่านมา ทีมงานรณรงค์ ‘ผู้บริโภคที่รัก’ พยายามทำงานร่วมกับซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ อาทิ บิ๊กซี แม็คโคร โลตัส และ ท็อปส์อย่างต่อเนื่อง และล่าสุดเมื่อเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมาทางองค์กรได้ดำเนินการเข้าพบผู้แทนของซูเปอร์มาร์เก็ตแต่ละราย เพื่อมอบตระกร้าส้มและอั่งเปามงคลที่รวบรวม 1,265 รายชื่อ พร้อมความคิดเห็นของผู้บริโภค เพื่อเป็นกระบอกเสียงแก่ ผู้บริโภคในการเรียกร้องให้มีการแสดงข้อมูล QR Code ที่มีรายละเอียดแหล่งผลิตและที่มาของส้มโดยละเอียดทและต้องสามารถใช้งานได้จริงเพื่อสร้างความมั่นใจว่าส้มที่นำมาจัดจำหน่ายปลอดภัยต่อผู้บริโภค ซึ่งผลจากการจากการนำเสนอข้อเรียกร้องต่อซูเปอร์มาร์เก็ตทั้ง 4 ราย พบว่า ส่วนใหญ่รับฟังและตอบรับข้อเรียกร้องจากผู้บริโภค โดยให้คำมั่นที่จะพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับของสินค้าส้มให้ดีขึ้น

“ผู้บริโภคส่งเสียง ภาคธุรกิจขยับ” คุณอารยา เผ่าเหลืองทอง ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายประกันคุณภาพ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของท็อปส์กล่าวว่า “ที่ผ่านมาท็อปส์ทำงานกับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจว่าส้มหรือผลผลิตนั้นๆ ปลอดภัย ไร้สารตกค้าง แต่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายหรือระเบียบบังคับให้เกษตรกรป้อนข้อมูลแหล่งที่มาของผลผลิตทางการเกษตรเข้าสู่ระบบ จึงทำให้กระบวนการในการการแสดงข้อมูลยังไม่ครบถ้วน ในส่วนของการติด QR Code บนสินค้านั้นทางท็อปส์ขอเวลารวบรวมข้อมูลรวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ ในการเพิ่มข้อมูลที่มาของผลผลิตตามที่ผู้บริโภคได้มีการเรียกร้องมา”

ขณะที่ คุณพรเพ็ญ นาถพิริยรัตน์ รองประธานกรรมการ ฝ่ายกำกับดูแลคุณภาพสินค้าโลตัส กล่าวว่า “บริษัทได้จัดทำ QR code สำหรับสินค้าเกษตรทุกชนิดอยู่แล้ว และยืนยันว่าส้มแต่ละล็อตที่นำมาวางขายถูกสุ่มตรวจสารเคมี หากพบว่าเกินค่ามาตรฐานก็จะถูกคัดออกทันที โดยโลตัสตอบรับที่จะเพิ่มข้อมูลที่มาของสินค้า แต่ก็ยอมรับว่ามีข้อมูลบางส่วนที่เป็นความลับทางการค้าของบริษัทที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ นอกจากนี้ บริษัทยังวางแผนเลิกจำหน่ายส้มนอกฤดู เพื่อตัดปัญหาส้มปนเปื้อนสารเคมี”

ด้านแม็คโครซึ่งร่วมมือกับกิจกรรมรณรงค์ ‘ผู้บริโภคที่รัก’ อย่างต่อเนื่อง ได้มีการรับข้อเรียกร้องผ่านจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากปัจจุบันบริษัทนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคมและงดรับของขวัญ เช่นเดียวกับบิ๊กซี ทีมีการตอบรับในการพิจารณาข้อเรียกร้องที่ถูกส่งไปทางอิเล็กทรอนิกส์เช่นกัน หลังจากที่ผ่านมายังไม่ได้มีการตอบรับเข้าร่วมกิจกรรมกับทางองค์กร

โดยขั้นตอนต่อไปทีมงานรณรงค์จะติดตามความคืบหน้าของการดำเนินงานจากซูเปอร์มาร์เก็ต ทั้ง 4 ราย และจะรายงานความคืบหน้าผ่านเพจเฟสบุ๊ค ‘ผู้บริโภคที่รัก’ ให้สาธารณะชนได้รับทราบต่อไป

“โดยทางองค์กรขอรณรงค์ให้ให้ผู้บริโภคร่วมกันตรวจสอบความคืบหน้าในการดำเนินงานของซูเปอร์มาร์เก็ตแต่ละราย ว่าได้มีการปฏิบัติตามข้อเรียกร้องหรือไม่ เพียงแค่นำโทรศัพท์มือถือมาสแกน QR code ที่แสดงอยู่บนฉลากอาหารที่จัดจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต โดยอาจจะเริ่มจากส้มตามที่องค์กรได้มีการรณรงค์ โดยอยากให้ทุกคนร่วมตระหนักว่าพลังของผู้บริโภค นั้นมีมากกว่าที่หลายคนคิด ซึ่งวันนี้แสดงให้เห็นแล้วว่า เมื่อผู้บริโภคร่วมกันส่งเสียง ภาคธุรกิจจึ่งได้เริ่มรับฟัง และตอบรับไปในทิศทางที่ดี ” นางสาวฐานิตา วงศ์ประเสริฐ กล่าว

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *