เปิดตัวโปรแกรมการท่องเที่ยวโดยชุมชนขายผ่านทัวร์

“พิพัฒน์” ตอกย้ำนโยบายเพิ่มขีดความสามารถ เปิดตัว 81 ชุมชนท่องเที่ยวและเส้นทางท่องเที่ยวโดยชุมชนตามวิถี New Normal ในรูปแบบโปรแกรมทัวร์ ภายหลังจากที่ได้จับมือ 6 สมาคมท่องเที่ยว สำรวจเส้นทางและยกระดับความสามารถชุมชนท่องเที่ยว ทางด้าน อพท. เร่งขยายผลต่อเนื่อง เตรียมผนึกภาคี ททท. สสปน. และบัตรเครดิตกรุงไทย เตรียมเพิ่มช่องทางการขายและการตลาด
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยเป็นอย่างมาก กระทรวงฯ จึงได้มอบนโยบายให้หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแล ไปดำเนินการพัฒนาโครงการที่สามารถช่วยเยียวยาผู้ประกอบการ ตลอดจนพัฒนาศักยภาพให้กับผู้ประกอบการชุมชนท่องเที่ยว เพื่อเตรียมพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวที่จะกลับเข้ามาเดินทางอีกครั้งภายใต้ชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal
ตอกย้ำนโยบายเพิ่มขีดความสามารถ
ในส่วนขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ซึ่งมีชุมชนที่พัฒนาผ่านเกณฑ์มาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน และเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ GSTC มีแนวความคิดที่จะเพิ่มศักยภาพทางการตลาด จึงได้ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และอีก 6 สมาคมท่องเที่ยวลงพื้นที่สำรวจและพัฒนาขีดความสามารถด้านการตลาดให้แก่ชุมชนท่องเที่ยว เมื่อแล้วเสร็จจึงได้นำกิจกรรมการท่องเที่ยวและเส้นทางทางการท่องเที่ยวของชุมชนดังกล่าวไปบรรจุในโปรแกรมการท่องเที่ยวเพื่อเสนอขายสู่ตลาดคุณภาพ ซึ่งถือเป็นเป้าหมายสำคัญที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะเข้าไปช่วยสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง

กิจกรรมในครั้งนี้เป็นการตอกย้ำว่ากระทรวงฯ ยังคงดำเนินการตามนโยบายและมุ่งหวังผลักดันให้ชุมชนมีขีดความสามารถที่สูงขึ้น สามารถบริหารจัดการตนเองได้ เพื่อสร้างความสุข ความยั่งยืน ทั้งนี้การท่องเที่ยวโดยชุมชนถือเป็นโอกาสของการท่องเที่ยวไทยในยุค New Normal ที่แท้จริง เพราะการท่องเที่ยวโดยชุมชนนั้นถือเป็นเสน่ห์ที่เป็นเอกลักษณ์จากวิถีชีวิต ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมท้องถิ่น ผนวกกับมิตรไมตรีจากผู้คนในชุมชน ซึ่งถือเป็นคุณค่าที่ช่วยเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวของประเทศไทยได้อย่างแท้จริง

พลิกวิกฤตสร้างโอกาสยกระดับการท่องเที่ยว
ทางด้าน ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รักษาการผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า นอกจากการเยียวยาและฟื้นฟูการท่องเที่ยวเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ที่เกิดกับภาคธุรกิจท่องเที่ยว อพท. ยังใช้โอกาสนี้เตรียมความพร้อมให้ชุมชนได้รับการยกระดับเป็นสินค้าการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะในเรื่องสุขอนามัย ความสะอาดและความปลอดภัย เพื่อให้เมื่อสถานการณ์การท่องเที่ยวฟื้นตัวดีขึ้น การท่องเที่ยวของประเทศไทยจะมีความพร้อมในการนำเสนอกิจกรรมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่มีความพร้อมทางมาตรการด้านสาธารณสุข การบริหารจัดการ การตลาด และก่อให้เกิดประโยชน์กับชุมชนท้องถิ่นซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากฐานรากที่แท้จริง

“ในโครงการพัฒนาและยกระดับแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์ อพท. ได้เชิญผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวจำนวน 89 ราย จาก 6 สมาคมภายใต้สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นวิทยากรในการยกระดับศักยภาพด้านการตลาดการท่องเที่ยวโดยชุมชน เชิญคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ช่วยออกแบบภาพลักษณ์แหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน ตลอดจนเชิญหน่วยงานด้านสาธารณสุขและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เข้าร่วมยกระดับความพร้อมด้านสุขอนามัยของชุมชนให้เป็นไปตามวิถี New Normal โดยมีชุมชนเป้าหมายจำนวน 81 ชุมชนทั่วประเทศไทย ซึ่งเป็นชุมชนที่ อพท. ได้ดำเนินการพัฒนาศักยภาพด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน ผ่านแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย ที่ได้รับการรับรองจากสภาการท่องเที่ยวยั่งยืนโลก หรือ Global Sustainable Tourism Council ถือเป็นการบูรณาการหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ เพื่อประโยชน์ของชุมชนอย่างแท้จริง
ใส่โปรแกรมทัวร์เสนอขายจริง
ภายหลังจากการยกระดับศักยภาพด้านการตลาดและด้านสุขอนามัยให้ชุมชนเรียบร้อยแล้ว ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวจาก 6 สมาคม จะได้นำชุมชนเป้าหมายไปผนวกในโปรแกรมท่องเที่ยวเพื่อเสนอขายกับนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพต่อไป เช่น โปรแกรมท่องเที่ยวจังหวัดพังงา โปรแกรมท่องเที่ยวอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี โปรแกรมท่องเที่ยวเขาหลัก-บ้านท่าดินแดง จังหวัดพังงา เป็นต้น และเพื่อเป็นการทำงานเชิงรุก อพท. เตรียมที่จะร่วมกับบัตรเครดิตกรุงไทย หรือ KTC การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. ในการนำโปรแกรมท่องเที่ยวที่ผนวกชุมชนท่องเที่ยวเป้าหมายแล้วของผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวจาก 6 สมาคม ไปส่งเสริมการขายผ่านช่องทางของ KTC ททท. และ สสปน. ซึ่งถือได้ว่าโครงการดังกล่าวเป็นประโยชน์ทั้งกับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวให้สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ช่วยเพิ่มเสน่ห์และมูลค่าของโปรแกรมท่องเที่ยว และเป็นประโยชน์ต่อชุมชนในการได้ยกระดับเพื่อเชื่อมโยงกับตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม อพท. ยังคงมุ่งมั่นและขอเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตลอดจนช่วยเหลือชุมชนท่องเที่ยว ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เพื่อให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ไปได้โดยหวังว่าการท่องเที่ยวของประเทศไทยจะกลับมาสดใสและยั่งยืน เป็น New Normal ที่เกิดประโยชน์กับทุกคนอย่างแท้จริง

ข้อมูลเพิ่มเติม : 6 สมาคมผู้ประกอบการท่องเที่ยว ได้แก่ สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) สมาคมผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวอาเซียน (ASEANTA) สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) และสมาคมไทยท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (TRTA)

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *