กรุงเทพฯ 24 กรกฎาคม 2566 – สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) ร่วมกับ บริษัท ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มหาวิทยาลัยมหิดล บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท ดีลอยท์ ประเทศไทย และบริษัท ล็อตเต้ ไฟน์ เคมิคอล จำกัด นำ 8 สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหารในโปรแกรมเร่งการเติบโต ภายใต้โครงการ SPACE-F Accelerator รุ่นที่ 4 ร่วมนำเสนอผลงานแก่นักลงทุน และผู้ที่สนใจในนวัตกรรมด้าน FoodTech บนเวที SPACE-F Batch 4 Accelerator Demo Day ในงาน Startup x Innovation Thailand Expo 2023 (SITE2023) ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
สตาร์ทอัพภายใต้โครงการ SPACE-F Accelerator รุ่นที่ 4 นั้นได้เข้าร่วมโปรแกรมเร่งการเติบโตเป็นระยะเวลา 4 เดือน โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างโอกาสทางธุรกิจและพัฒนานวัตกรรมร่วมกับบริษัทคู่ค้า สร้างความร่วมมือและเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมอาหารในประเทศไทย
โดย ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวเปิดงาน SPACE-F Batch 4 Accelerator Demo Day ว่า “โครงการ SPACE-F เป็นโครงการที่สนับสนุนสตาร์ทอัพด้านนวัตกรรมอาหารในระดับนานาชาติ พร้อมส่งเสริมความร่วมมือกันของเครือข่ายและระบบนิเวศของสตาร์ทอัพให้แข็งแกร่ง โดยมีจุดประสงค์ที่จะเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมอาหารของโลก สตาร์ทอัพทั้ง 8 ในโปรแกรม Accelerator ของ SPACE-F รุ่นที่ 4 จะเป็นผู้นำเสนอเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะมาช่วยแก้ไขปัญหาและเปลี่ยนแปลงอนาคตของอุตสาหกรรมอาหารที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนบนโลก โดย SPACE-F เป็นผู้นำของโลกยุคใหม่ด้านนวัตกรรมอาหาร ทั้งการเป็นผู้ประกอบการ การสร้างนวัตกรรม และการสร้างการร่วมมือกันของทุกภาคส่วนมาบรรจบกันเพื่อเปลี่ยนโลกของเราให้ดียิ่งขึ้น ความสำเร็จของสตาร์ทอัพเหล่านี้เป็นสิ่งยืนยันถึงศักยภาพอันไร้ขีดจำกัดที่อยู่ในภาคส่วนเทคโนโลยีอาหาร”
ดร. ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มด้านนวัตกรรม บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างผู้สนับสนุนของโครงการตั้งแต่เริ่มต้นและการให้ความร่วมมือกับสตาร์ทอัพเพื่อพัฒนานวัตกรรมอาหารว่า “โครงการ SPACE-F ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อสร้างเครือข่ายและระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีอาหารให้แข็งแกร่ง พร้อมทั้งสนับสนุนการเติบโตของสตาร์ทอัพในโครงการตลอดจนต่อยอดโอกาสด้านธุรกิจสู่ระดับสากล และด้วยเครือข่ายของ SPACE-F ที่เข้มแข็งขึ้นทำให้สตาร์ทอัพที่เคยร่วมโครงการมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน นักลงทุน พันธมิตร รวมถึงโอกาสต่างๆ ในการขยายธุรกิจในเวทีโลก
ทั้งนี้ สตาร์ทอัพที่นำเสนอผลงานได้รับการคัดเลือกโดยพันธมิตรจากทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ได้รับโอกาสในการสร้างนวัตกรรมอาหาร ไทยยูเนี่ยนจึงได้ถือโอกาสนี้ในการเข้าไปสนับสนุนและทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพที่ผ่านการคัดเลือกเพื่อเร่งสปีดความสำเร็จ โดยเราคาดหวังว่าจะได้สนับสนุนและทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องกับสตาร์ทอัพเหล่านี้ในอนาคตแม้หลังจากจบโครงการแล้ว”
คุณต้องใจ ธนะชานันท์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานความยั่งยืนและกลยุทธ์ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผู้สนับสนุนหลักของโครงการ SPACE-F Batch 4 ได้เสริมอีกว่า “ความหลากหลายของสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหารในรุ่นที่ 4 นี้ ครอบคลุมไปในส่วนของนวัตกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งเรามองเห็นความสามารถและศักยภาพของสตาร์ทอัพในรุ่นนี้ที่มาจากนานาประเทศ พวกเขาทำให้เรามั่นใจว่า SPACE-F จะกลายเป็นตัวกลางในการสนับสนุนนวัตกรรมที่โดดเด่นเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางระดับโลกสำหรับนวัตกรรมอาหารและเครื่องดื่มอย่างแน่นอน ไทยเบฟเวอเรจ ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ SPACE-F ในตลอด 3 ปีที่ผ่านมา และเรามองว่า SPACE-F จะเป็นเวทีสำคัญในการผลักดันวาระความยั่งยืนในระดับโลก”
ทำความรู้จักกับ 8 สตาร์ทอัพที่ร่วมโชว์ผลงาน
- AlgaHealth (อิสราเอล): ผู้คิดค้นและผลิตอาหารเสริมสารสกัด Fucoxanthin จากสาหร่าย ซึ่งมีส่วนช่วยในการลดไขมันในเลือด
- AmbrosiaBio (อิสราเอล): ผู้พัฒนาและออกแบบสารทดแทนน้ำตาลที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ เช่น โรคอ้วน หรือเบาหวาน โดยไม่ทำให้รสชาติเปลี่ยนแปลง
- Lypid (สหรัฐอเมริกา): ไขมันจากพืชสำหรับการผลิตโปรตีนทดแทนที่มีคุณภาพเทียบเท่ากับเนื้อสัตว์
- MOA (สเปน): ผู้พัฒนาและผลิตแหล่งโปรตีนใหม่ ๆ อย่างยั่งยืนจากการ Upcycling วัตถุดิบจากกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร
- Pullulo (สิงคโปร์): ผู้ผลิตโปรตีนทดแทน จากการ Upcycling วัตถุดิบจากภาคการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีการหมัก (Fermentation technology)
- Seadling (มาเลเซีย): ผลิตภัณฑ์อาหารและอาหารเสริมสำหรับสัตว์เลี้ยงผลิตจากสาหร่าย
- TeOra (สิงคโปร์): ผู้คิดค้นเทคโนโลยีที่ช่วยป้องกันโรคและส่งเสริมการเจริญเติบโตของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
- The Leaf Protein Co. (ออสเตรเลีย): ผู้สร้างและผลิตโปรตีนทดแทนจากใบไม้ด้วยกรรมวิธีที่ยั่งยืน
สตาร์ทอัพผู้เข้าร่วมโครงการได้ให้สัมภาษณ์ และกล่าวถึงความรู้สึกเกี่ยวกับการเข้าร่วมโครงการ และกิจกรรม SPACE-F Batch 4 Accelerator Demo Day ว่า พวกเขารู้สึกตื่นเต้นที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรม SPACE-F โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเข้าร่วมวัน Accelerator Demo Day นี้ พวกเขาได้พบกับผู้ที่มีความสามารถอันหลากหลาย พร้อมได้สร้างเสริมสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภายในงานอันเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์ด้านเทคโนโลยีอาหาร โปรแกรมนี้เป็นโอกาสที่ดีสำหรับพวกเขาในการร่วมมือกับพันธมิตรองค์กรและทุก ๆ ภาคส่วน พวกเขาได้เรียนรู้หลายอย่างจากประสบการณ์ต่าง ๆ จากผู้เชี่ยวชาญในโครงการ พร้อมทั้งได้รับข้อมูลและข้อเสนอแนะมากมายที่พวกเขาสามารถนำไปใช้กับแผนการนำร่องนวัตกรรมของตัวเองได้
ศาสตราจารย์ นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ปิดท้ายงาน SPACE-F Batch 4 Accelerator Demo Day ว่า รู้สึกยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของงานที่ประสบความสำเร็จ จากที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากให้ความสนใจนวัตกรรมด้านอาหาร และอยู่ร่วมกิจกรรมตั้งแต่ต้นจนจบช่วง Pitching “มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้สนับสนุนในด้านสิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์การวิจัยด้านเทคโนโลยีอาหาร พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ที่พร้อมให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีอาหาร ซึ่งในโครงการ SPACE-F รุ่นต่อ ๆ ไป ทางคณะวิทยาศาสตร์ และสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทุ่มเทและพยายามอย่างเต็มที่เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายการขับเคลื่อนนวัตกรรมตามวิสัยทัศน์และพันธกิจของโครงการ SPACE-F เพื่อช่วยส่งเสริมสตาร์ทอัพและสร้าง “ระบบนิเวศน์ด้านเทคโนโลยีอาหาร ทั้งในมหาวิทยาลัยของไทยและในระดับประเทศ”
คุณแจโฮ ลี หัวหน้าทีมพัฒนาอาหารและยา บริษัท ล็อตเต้ ไฟน์ เคมิคอล จำกัด ในฐานะตัวแทนจากบริษัทที่ล่าสุดได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของผู้สนับสนุนของโครงการ ได้เสริมอีกว่า “สำหรับโครงการ SPACE-F ทางล็อตเต้ได้ให้การสนับสนุนในเรื่องของการลงทุนและได้ให้ความร่วมมือกับองค์กรทุกภาคส่วนในโครงการ ตั้งแต่รุ่นที่ 3 เป็นต้นมา โดยล็อตเต้วางแผนที่จะลงทุนในสตาร์ทอัพอย่างต่อเนื่องรวมถึงการแบ่งปันความรู้ของล็อตเต้ให้กับสตาร์ทอัพ โดยเรามีจุดประสงค์เพื่อสร้างรากฐานความยั่งยืนของนวัตกรรมอาหารเพื่อเด็ก ๆ มนุษยชาติ และโลกของเราที่สวยงาม มาร่วมสร้างการเดินทางสู่ความสำเร็จครั้งใหม่ไปด้วยกัน”
ด้วยผู้เข้าร่วมที่มากกว่า 200 คน ซึ่งประกอบไปด้วยผู้บริหาร และพนักงานจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน นักลงทุน ผู้ประกอบธุรกิจ ทั้งไทย และต่างประเทศ และผู้เข้าร่วมอื่น ๆ ที่ให้ความสนใจ นับเป็นความสำเร็จของ SPACE-F Batch 4 Accelerator Demo Day ที่เปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพภายใต้โครงการได้เปิดตัวต่อเครือข่ายคู่ค้า เพื่อเชื่อมโยงความเป็นไปได้ และโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมในประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน