ปีงบประมาณ 2566 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ยังคงมุ่งเน้นเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการด้าน BCG หรือ Bio Circular Green Economy การผสมผสานระหว่างเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green) ในพื้นที่ด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อให้ผลิตภัณฑ์และบริการออกสู่ตลาดอย่างเป็นระบบ มีการทำตลาดและขายสินค้าทั้ง online/offline ทั้งในและต่างประเทศ โดย อว.เป็นผู้พัฒนาระบบ ในการเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์ม (Platform) ที่สำคัญมีการจัดทำข้อมูล Thailand Community Data (TCD) ให้สมบูรณ์ครบทุกพื้นที่ รวมถึงการถ่ายทอดการใช้ประโยชน์จาก TCD ให้ผู้ที่จะใช้ประโยชน์ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและชุมชน
โดยในวันที่ 27 ม.ค.นี้ ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมคณะ เป็นประธานเปิดงาน “U2T For BCG to Smart City : กาลครั้งหนึ่งเมื่อสินค้าชุมชนบุกเมือง” ที่ลานกิจกรรม Zpotlight ศูนย์การค้า Zpell @ ฟิวเจอร์ปาร์ค รังสิต จัดโดยมหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพื้นที่เป้าหมายในการจัดกิจกรรมตาม “โครงการส่งเสริมการตลาด เพื่อประชาสัมพันธ์และแนะนำผลิตภัณฑ์สินค้า U2T for BCG” จัดแสดงสินค้าออกสู่ตลาดผู้บริโภค เพื่อขยายโอกาสและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาช่องทางการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจและภาคบริการ
ดร. ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า “โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG หรือ โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล U2T for BCG เป็นโครงการที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยของรัฐ 70 กว่าแห่ง มหาวิทยาลัยเอกชน 20 แห่ง ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นต่อจากโครงการเดิมกว่า 3,000 ตำบล และนำมาสู่การขยายผลในโครงการปัจจุบันกว่า 7,000 ตำบล ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้มีเสียงตอบรับจากสังคมและเสียงสะท้อนจากชุมชนท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก ถือเป็นการสร้างปรากฎการณ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอีกครั้งของกระทรวง อว. ในการเตรียมความพร้อมและพัฒนาทักษะให้กับประชาชน เพื่อรองรับการฟื้นตัวของประเทศ หลังสถานการณ์โควิด โดยใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ในการขับเคลื่อนควบคู่ไปกับการจัดทำ Thailand Community Data (TCD) หรือข้อมูลชุมชนขนาดใหญ่ที่มีความสมบูรณ์ครบถ้วนในทุกพื้นที่”
ทั้งนี้ การเข้าใจ เข้าถึง พัฒนาในพื้นที่นำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม ผลงานวิจัย ผลงานทางวิชาการมากมาย ซึ่งเราได้เห็นศักยภาพในแต่ละพื้นที่ แต่ละตำบลว่ามีศักยภาพ ทั้งในด้านทุนทางมนุษย์ ทุนประวัติศาสตร์ ทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ ทุนทางสังคม ทุนทางประเพณีวัฒนธรรม และทุนอื่นๆ มากมาย ที่นำมาสร้างสรรค์สู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน และยกระดับให้เกิดมาตรฐานต่างๆ มากขึ้น พร้อมทั้งยังทำให้ผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนเข้าถึงผู้บริโภคทั่วประเทศได้มากขึ้น และง่ายขึ้นผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการพัฒนาบรรจุภัณฑ์เป็นสินค้า BCG มุ่งสู่การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องด้วยกระแสของสังคมโลกได้ตระหนักถึงการใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การมีโครงการ U2T for BCG เข้าไปในพื้นที่ยิ่งเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ตระหนักในสิ่งแวดล้อมและยังมีกำลังใจ มีพลังในการขับเคลื่อนท้องถิ่น รักษ์ในท้องถิ่นบ้านเกิด ทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ บัณฑิตจบใหม่ กลับมาอยู่ใกล้ชิดกับครอบครัวอย่างอบอุ่น เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และพัฒนาตนเองให้เป็นสตาร์ทอัพหรือผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เกิดการสร้างนวัตกรรมและแนวคิดธุรกิจใหม่ที่สร้างคุณค่าแก่สังคมและประเทศชาติ
ดร.ดนุช กล่าวต่อว่า กระทรวง อว.เองได้วางแผนงานไว้อย่างเป็นระบบที่จะเชื่อมโยงพื้นที่กับการทำงานของกระทรวงให้มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น ซึ่ง อว.มีหน่วยงานในสังกัด ที่พร้อมสนับสนุนทีมของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ พร้อมวางระบบการขอตำแหน่งทางวิชาการให้กับคณาจารย์ ไม่ว่าจะเป็นการขอผลงานทางวิชาการรับใช้สังคม หรือมาตรฐานเกณฑ์ใหม่ ๆ ที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลง ขณะนี้ อว.ได้มีการวางแผนงานการตลาด แผนงานการให้องค์ความรู้ แผนงานธุรกิจที่จะรับรองการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนในอนาคตไว้เรียบร้อยแล้ว
“ปีนี้ อว. จะตอกย้ำด้วย โครงการส่งเสริมการตลาดเพื่อประชาสัมพันธ์และแนะนำผลิตภัณฑ์สินค้า U2T for BCG หลังจากใช้แนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบ BCG หรือ Bio Circular Green Economy การผสมผสานระหว่างเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green) เข้าไปพัฒนาผลผลิตของพี่น้องประชาชน ประสบความสำเร็จด้วยดี เมื่อมีสินค้าแล้วก็ต้องมีการจัดจำหน่าย เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ตรงจุด ตรงความต้องการ ซึ่งสิ่งที่ อว.ต้องทำ คือ สร้างความเข้าใจและปรับตัวในการผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับ BCG ซึ่ง อว.ได้ผสานความร่วมมือกับอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย หรือ Science Park ,คลินิกเทคโนโลยี, ผู้ผลิตสินค้าระดับโอทอป(OTOP) และหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา หรือ University Business Incubator : UBI เข้ามาช่วยให้คำปรึกษาและร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ U2T อย่างเต็มที่ ถือเป็นการโชว์สินค้า แชร์เทคโนโลยี และนำไปต่อยอดต่อไปได้ หากใครมีความสนใจหรือต้องการพัฒนาสินค้าต่างๆ สามารถติดต่อไปได้ที่มหาวิทยาลัยใกล้บ้าน เราพร้อมให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยี การตลาด การจัดการ เพื่อนำไปต่อยอดธุรกิจ นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มศักยภาพการจัดจำหน่ายในช่องทางออนไลน์ให้ด้วย เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนได้เป็นผู้ประกอบการมืออาชีพในอนาคต”
สำหรับผลิตภัณฑ์ที่นำมาแสดงที่งาน “U2T For BCG to Smart City : กาลครั้งหนึ่งเมื่อสินค้าชุมชนบุกเมือง” ที่ลานกิจกรรม Zpotlight ศูนย์การค้า Zpell @ ฟิวเจอร์ปาร์ค รังสิต ครั้งนี้ เป็นการผนึกกำลังในการนำผลิตภัณฑ์เด่นของแต่ละจังหวัด ภายใต้โครงการ U2T FOR BCG ที่ 3 สถาบันการศึกษา ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์, มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้นำองค์ความรู้ ด้านนวัตกรรมต่างๆ ไปประยุกต์ใช้กับชุมชนผ่านรูปแบบต่างๆ อาทิ การอบรม สาธิตการทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ สอนด้านการตลาด รวมถึงการจัดจำหน่ายสินค้า เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยงานแสดงสินค้าเหล่านี้จะจัดขึ้นในจังหวัดเป้าหมายหลัก ตลอดเดือน มกราคม – มีนาคม 2566