เดอะมั้งค์ สตูดิโอ กับภารกิจพาแอนิเมเตอร์ไทยไปสู่ระดับโลก

หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าผลงานวิชวล เอฟเฟค และภาพยนตร์แอนิเมชันระดับโลกหลายต่อหลายเรื่องที่มีชื่อเสียงเป็นที่ชื่นชอบของทุกคนทั่วโลก ส่วนหนี่งเป็นผลงานของบริษัทคนไทยที่ชื่อว่าเดอะมั้งค์สตูดิโอ (The Monk Studios) ภายใต้การนำของ จั๊ก สุภณวิชญ์ สมสมาน ประธานคณะกรรมการเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะมั้งค์ สตูดิโอ จำกัด นักสร้างภาพวิชวล เอฟเฟค และแอนิเมเตอร์มือหนึ่งของไทยผู้มีประสบการณ์ในวงการยาวนานกว่า 30 ปี

สุภณวิชญ์ เป็นรุ่นบุกเบิกของวงการวิชวล เอฟเฟคและแอนิเมชัน ในประเทศไทยและต่างประเทศ เขาเรียนจบคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบมาทำงานเป็นช่างภาพอยู่ระยะหนึ่ง ก็เกิดความสนใจที่จะเรียนเรื่องการถ่ายภาพและการทำภาพยนตร์ เมืองไทยในช่วงเวลานั้นไม่มีสอนวิชาด้านนี้โดยเฉพาะ จึงตัดสินใจเดินทางไปเรียนด้านการทำภาพยนตร์ที่ School of Visual Arts นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา คอมพิวเตอร์กราฟฟิค เป็นหลักสูตรที่เพิ่งเปิดใหม่ในขณะนั้นและทำให้ สุภณวิชญ์ เบนเข็มจากการเรียนฟิลม์ มาเป็น คอมพิวเตอร์กราฟฟิค เขามองว่าเป็นวิชาที่ผนวกเอาศิลปะและดิจิตอลมาเป็นภาพเคลื่อนไหว และจะกลายเป็นอนาคตของวงการภาพยนตร์อย่างแน่นอน

“พอเห็นว่ามีหลักสูตรนี้เราสมัครเรียนเขาก็รับทันทีเพราะเวลานั้นแทบไม่มีใครไปสมัครเข้าเรียนเลยมีคนอยู่ในวงการนี้อยู่ไม่กี่คน อาจารย์ที่สอนช่วงเวลานั้นก็เป็นผู้ใหญ่ในวงการที่มีผลงานอยู่หลายเรื่อง อย่างแอนิเมชันเรื่อง ไอซ์เอจ ก็เป็นหนึ่งในผลงานของเขา พอจบออกมาไม่นานก็มีภาพยนตร์เรื่อง Terminator 2 ออกฉายในช่วงเวลานั้น เป็นภาพยนตร์ที่เรียกกระแสฮือฮาให้กับวงการภาพยนตร์อย่างมาก โดยเฉพาะในฉากที่คนเหล็กเดินผ่านทะลุกรงออกมา ทุกคนบอกตรงกันว่า นี่แหละคืออนาคตใหม่ของวงการภาพยนตร์ เป็นเรื่องแรกที่จุดประกายให้ทุกคนหันมาสนใจในเรื่องของการทำ วิชวล เอฟเฟค เรียกได้ว่าเป็นยุคทองของคนทำงานด้านวิชวล เอฟเฟค เลยก็ว่าได้ ผมไปสมัครงานที่ไหนเขาก็รับหมด เพราะอยากได้คนทำ วิชวล เอฟเฟคให้กับภาพยนตร์เรื่องใหม่ สุดท้ายผมเลือกทำงานที่เมืองลอสแองเจลิสกับบริษัท Rhythm & Hues Studios เหตุผลง่ายๆ คือเป็นเมืองที่มีร้านอาหารไทยตั้งอยู่ นี่แหละน่าจะดีสำหรับผมแน่นอน” สุภณวิชญ์ เล่าอย่างอารมณ์ดี

สุภณวิชญ์ได้ฝากผลงานด้าน Visual Effects-Filmoraphy หรือเอฟเฟคร่วมกับภาพที่มีคนแสดงอย่างเรื่อง Garfield, Cats & Dogs, Scooby-Doo, Elektra, Star trek: Deep Space Nine, Waterworld, Batman Forever, Babe และอีกหลายเรื่องที่เราไม่เคยรู้เลยว่ามีคนไทยที่มีส่วนร่วมในภาพยนตร์เหล่านี้ จนกระทั่งในปี พ.ศ.2549 สุภณวิชญ์ตัดสินใจเดินทางกลับประเทศไทยเพื่อเปิดบริษัท เดอะ มั้งค์สตูดิโอ เป้าหมายของเขาคือการสร้างบริษัทรับทำแอนิเมชันและวิชวล เอฟเฟคสัญชาติไทยที่มีมาตรฐานระดับโลก และสร้างแอนิเมเตอร์คนไทยให้มีความสามารถเท่าเทียมกับต่างชาติ

“ก่อนมาก่อตั้ง เดอะ มั้งค์ สตูดิโอ ผมไปฝึกงานให้กับคนอินเดีย จำนวน 150 คน ให้สามารถรับงานของบริษัท Rhythm & Hues Studios เรื่อง Garfield 2 ผมรับผิดชอบบางส่วนของภาพยนตร์เรื่องนี้และฝึกสอนให้กับเด็กอินเดีย ใช้เวลาฝึกไม่นานพวกเขาก็ทำได้ ผมคิดว่าถ้าเราฝึกคนอินเดียได้เราก็ฝึกเด็กไทยได้เหมือนกัน กลับมาเมืองไทยเปิด เดอะ มั้งค์ สตูดิโอ รับงานจากต่างประเทศโดยเฉพาะ ทำไมไม่รับงานจากค่ายหนังของไทย ตอบเลยว่าไม่ใช่ไม่รับ แต่คนทำภาพยนตร์ไทยไม่มีทุนสูงพอที่จะทำวิชวล เอฟเฟคในระดับนั้น ปัจจุบันก็ยังเจอกับปัญหานี้อยู่ แม้มีแอนิเมเตอร์คนไทยที่มีความสามารถระดับฮอลลีวูดมากมาย แต่วงการแอนิเมชันเมืองไทยยังติดในเรื่องของทุนสร้าง”

ในช่วง 15 ปีผ่านมา เดอะ มั้งค์ สตูดิโอ ร่วมงานกับค่ายภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่มากมาย Dreamworks, Disney, Lucasfilm, Nickelodeon, Cartoon Networks และอีกหลายค่าย ฝากผลงานในภาพยนตร์เรื่อง Monter Hunter : Legend of the Guild (2021), Rango (2011, Paramount), Final Fantasy XV (2016, Sony Home Entertainment), The Yin Yang Master(2020, China), Journey to The West 2 (2017, China), แอนิเมชันเกมคอมพิวเตอร์ Star Wars : The Force Unleashed (2010, USA) และผลงานภาพยนตร์และเกมคอมพิวเตอร์อื่น ๆ อีกมากมาย เดอะ มั้งค์ สตูดิโอ เป็นที่ยอมรับของวงการอย่างรวดเร็ว ค่ายภาพยนตร์จากประเทศจีน สนใจติดต่อเข้ามามากขึ้น Qian Feng ประธานคณะกรรมการเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โอริ แอนิเมชัน จำกัด เซ็นสัญญากับ เดอะ มั้งค์สตูดิโอ ร่วมกันสร้างภาพยนตร์แอนิมั่นบุกตลาดจีนและตลาดโลก มีกำหนดแล้วเสร็จและออกฉายในอีกประมาณ 3 ปีข้างหน้า

“บริษัท โอริ แอนิเมชัน เป็นบริษัทที่มีศักยภาพสูง มีประสบการณ์ที่เคยร่วมงานกันมาแล้วหลายโปรเจกต์และได้ผลตอบรับกลับที่ดีมาก นอกจากนี้ การลงทุนสร้างภาพยนตร์แอนิเมชันบุกตลาดจีนเป็นตัวเลือกที่ดี เหตุผลแรกคือเรื่องทุนสร้างที่มีมากกว่า ประชากรจีนอยู่ในระดับพันล้านคน ในปี 2018 ที่ผ่านมาภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง นาจา แอนิเมชันเรื่องแรกของจีนทำรายได้ทำลายสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงที่ออกฉาย และมีเรื่องอื่น ๆ ตามมา ทำให้เรามั่นใจแอนิเมชันที่ทำร่วมกัน จะได้ผลรับที่ดีกลับมาอย่างแน่นอน”

มีคำถามว่า ทำอย่างไรให้เกิดภาพยนตร์แอนิเมชันสัญชาติไทย เป็นที่ยอมรับในระดับสากลเหมือนเช่นแอนิเมชันจากประเทศจีนและเกาหลีใต้ สุภณวิชญ์เห็นว่า “หากเราจะทำให้แอนิเมชันประสบความสำเร็จสักเรื่องหนึ่ง ก็คงไม่ต่างกับการสร้างภาพยนตร์ให้ประสบความสำเร็จ เพราะทั้งสองอย่างต่างมีจุดร่วมเดียวกันคือ Story telling หรือการเขียนบทภาพยนตร์ออกมาให้ดี ซึ่งเป็นหัวใจหลักที่จะทำให้ภาพยนตร์สนุก มีเส้นเดินเรื่องที่น่าติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ เป็นที่พูดถึงเมื่อดูจบแล้ว”

แอนิเมเตอร์คนไทยเก่งทำงานในระดับภาพยนตร์ฮอลลีวูดได้ มหาวิทยาลัยต่างๆ มีสอนหลักสูตรในสาขาการสร้างภาพยนตร์แอนิเมชัน หรือการสร้างวิชวล เอฟเฟคเพิ่มมากขึ้น บุคลากรทางด้านนี้เพียงพอ แต่รายได้ไม่ดึงดูดเกิดปัญหาสมองไหลไปอยู่แคนาดา ออสเตรเลีย สิงค์โปร์ ที่ค่าแรงสูงกว่า นอกจากนี้ ยังขาดนักเขียนบทภาพยนตร์ที่สามารถตอบโจทย์การเดินเรื่องในภาพยนตร์ระดับสากล นักเขียนบทภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามาช่วยขัดเกลาบทให้เป็นที่เข้าใจในบริบทของสากลโลก แอนิเมชันในแต่ละประเทศก็จะทำเสนอ ภาพ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของตัวเองออกมา แต่ถ้าเราต้องการทำไปขายในต่างประเทศไปตีตลาดโลกตะวันตก ซึ่งต้องใช้นักเขียนทางฝั่งนั้นเป็นคนช่วยเขียนบทขึ้นมา ถ้าเราจะทำหนังไปตีตลาดจีนก็ต้องใช้นักเขียนจีนช่วยเขียนบทให้ถูกใจคนจีน ต่อให้ใช้นักเขียนบทภาพยนตร์มือหนึ่งของอเมริกามาเขียนบทภาพยนตร์จีนผมบอกเลยว่ายังไงก็ไม่รอด

เดอะ มั้งค์ สตูดิโอ ได้วางแนวทางค่อนข้างชัดเจนในเรื่องการปลุกปั้นและสร้างบุคลากรในวงการนี้ด้วยการฝึกเด็กรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ ตั้งแต่ฝึกงานให้เก่งและรับเข้าทำงาน ป้องกันปัญหาสมองไหล และช่วยประเทศไทยพัฒนาบุคลากรด้านนี้ไปด้วยในตัว ในแต่ละปีรับนักศึกษาฝึกงานมากกว่า 50 คนขึ้นไป หมุนเวียนกันเข้ามาตลอดทั้งปี พี่เลี้ยงช่วยสอนงานจนสามารถรับงานสำคัญได้ เรารับเข้ามาร่วมทีม หรือรับเป็นฟรีแลนซ์ เดอะ มั้งค์ สตูดิโอ กลายเป็นโรงเรียนฝึกสอนการสร้างแอนิเมชันแห่งหนึ่งไปแล้ว

การได้สร้างแอนิเมเตอร์คนไทยรุ่นใหม่มาทำงานกับเรา สร้างความสัมพันธ์ความรู้จักกันในระยะยาว เป็นการสร้างงานอย่างยั่งยืน อนาคตต่อไป เดอะ มั้งค์ สตูดิโอ มีแผนขยายสาขาไปที่จ.เชียงใหม่ และกำลังมองที่ประเทศอินเดีย ในช่วงเวลานี้มีความต้องการผลิตแอนิเมชันป้อนเข้าสู่แพลตฟอร์มการรับชมภาพยนตร์มากมายไม่ว่าจะเป็น Netflix, Disney+, HBO GO และอื่น ๆ เข้ามาเป็นจำนวนมาก

คำพูดของ สุภณวิชญ์ ดูจะไม่เกินเลยไปจากความจริง เพราะจำนวนงานที่เข้ามาสู่สตูดิโอแห่งนี้ในช่วงปี 2564 มีจำนวนถึง 34 โปรเจกต์ ทั้งโปรเจกต์ใหญ่ที่ทำเต็มเรื่อง และโปรเจกต์ขนาดกลางและเล็กที่ทำเพียงบางส่วนหรือช่วยแก้งานให้ลูกค้า เรียกได้ว่ามีงานเข้ามาจนล้นมือสวนกระแสธุรกิจอื่นอย่างชัดเจน ช่วงโควิดที่ผ่านมากองถ่ายภาพยนตร์ต้องเลื่อนการถ่ายทำนอกสถานที่ อาศัยเอฟเฟคเข้าช่วยมากขึ้น มีการสร้างภาพยนตร์แอนิเมชันป้อนสู่อุตสาหกรรมบันเทิงเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งรูปแบบการทำงานแอนิเมชันได้เปลี่ยนไป ปัจจุบันแอนิเมเตอร์สามารถทำงานจากที่บ้านแล้วส่งเข้ามารวมกันที่สตูดิโอได้ กระจายไปให้กับฟรีแลนซ์ เพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงาน

ทาง เดอะ มั้งค์ สตูดิโอ คาดการณ์ว่า สถานการณ์ปัญหาเรื่องการถ่ายทำภาพยนตร์จากโควิด น่าจะคงอยู่อีกประมาณ 2 – 3 ปีกว่าจะคลี่คลายตัวจนกลับเข้าสู่ภาวะปรกติ แต่ความต้องการรับชมคอนเทนต์ใหม่ ๆ ยังคงเพิ่มสูงตลอดเวลา โดยเฉพาะประเทศจีนที่มีความต้องการรับชมภาพยนตร์แอนิเมชันที่สร้างจากนวนิยายที่มีชื่อเสียงอีกหลายเรื่อง จึงเป็นโอกาสที่เดอะ มังค์ สตูดิโอ จะสยายปีกจากแค่รับงานจากค่ายภาพยนตร์ไปสู่การร่วมทุนกับบริษัทจากประเทศจีน อย่าง บริษัท โอริ แอนิเมชัน สร้างภาพยนตร์ของตัวเองขึ้นมา ให้เป็นที่ยอมรับในตลาดแอนิเมชันของโลก

สุภณวิชญ์ สรุปทิ้งท้าย “ผมมองว่าเวลานี้เป็นเวลาที่ดีที่เราจะสร้างภาพยนตร์แอนิเมชัน ร่วมกับทาง โอริ แอนิเมชัน ก่อนหน้านี้เรามีผลงานร่วม 2 เรื่องและกำลังจะได้เข้าฉายทาง Netflix ในช่วงกลางปี พ.ศ.2565 นี้ 1เรื่อง และเรื่องที่เราเซ็นสัญญาร่วมกันล่าสุดจะบุกตลาดจีนก่อนเป็นอันดับแรก และหลังจากนั้นค่อยเอาภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายในประเทศอื่น แล้วนำเข้าสู่แพลตฟอร์มการชมภาพยนตร์ออนไลน์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องทางสร้างกำไรให้กับภาพยนตร์ที่เราทำร่วมกันและภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องใหม่นี้ ถือเป็นการเปิดตัวให้คนไทยและทั่วโลกได้รู้จักกับ เดอะ มั้งค์ สตูดิโอ ผู้สร้างแอนิเมชัน และวิชวล เอฟเฟคที่ได้รับการยอมรับจากทุกคนในวงการสร้างภาพยนตร์ระดับโลกกันมากขึ้นอีกด้วย”

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *