สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า หรือ สำนักงาน กขค. จัดงาน “กขค. : มิติใหม่แห่งการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม TCCT : THE NEW ERA OF FREE AND FAIR” เพื่อแสดงแนวนโยบายในการกับกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้า ของคณะกรรมการการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) โดยมี ดร.ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล กรรมการการแข่งขันทางการค้า นายสมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ รองประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า และดร.รักษเกชา แฉ่ฉาย กรรมการการแข่งขันทางการค้า ร่วมแสดงแนวนโบายในการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจในมิติต่าง ๆ ณ ห้องวิภาวดี บอลรูม ซี โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ
ดร.ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล ได้กล่าวถึงความสำคัญของการแข่งขันทางการค้า รวมไปถึงปัจจัยท้าทายในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเรื่องการแข่งขันของผู้ประกอบธุรกิจ ถือเป็นกลไกลในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าจึงเป็นเครื่องมือที่พัฒนาขึ้นจากเจตนารมณ์เพื่อการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจให้เกิดการแข่งขันในตลาดกันอย่างเข้มแข็ง แต่ก็นับเป็นความเป็นความท้าทายทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติที่จะบังคับใช้กฎหมาย คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าจึงมีความจำเป็น ที่จะต้องมีการทบทวนกฎระเบียบและแนวทางการพิจารณาทั้งในเชิงโครงสร้างในระบบและพฤติกรรมของธุรกิจ รวมไปถึงพฤติกรรมผู้บริโภคอยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้กฎระเบียบและแนวปฏิบัติภายใต้กฎหมายการแข่งขัน ทางการค้าเท่าทันกับรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป
ด้านนายสมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ ได้กล่าวถึงทิศทางการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ปี พ.ศ. 2566 – พ.ศ. 2567 ที่จะมุ่งเน้นนโยบายการกำกับดูแลโครงสร้างตลาด และพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจ E-Commerce ในประเทศไทย การกำกับดูแลการควบรวมธุรกิจ M&A หรือ Merger and Acquisition การส่งเสริมสภาพแวดล้อมการแข่งขันทางการค้าเพื่อให้ SMEs สามารถแข่งขันได้ การปรับปรุงกฎหมายและแนวปฏิบัติทางการค้าให้มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการพัฒนาการกำกับการแข่งขันทางการค้าเชิงรุกด้านการป้องกัน (Ex-ante approach) โดยกำหนดพฤติกรรมที่ห้ามกระทำ
ส่วนดร.รักษเกชา แฉ่ฉาย ได้เปิดตัวระบบฝึกอบรมและเรียนรู้ด้านการแข่งขันทางการค้า หรือ TCCT e-Learning โดยมี “น้องแบ่งปัน” เป็นผู้ช่วยในการเรียน ซึ่งสำนักงาน กขค. จัดทำ TCCT e-Learning ขึ้นเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในกฎหมายการแข่งขันทางการค้าและความรู้อื่นที่เกี่ยวข้อง โดยมุ่งหวังให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจประโยชน์ของกฎหมายการแข่งขันทางการค้า และสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้อย่างสะดวกทุกที่ทุกเวลา มีหลักสูตรกฎหมายการแข่งขันทางการค้าขั้นพื้นฐานสำหรับบุคคลภายนอก เช่น คำศัพท์เศรษฐศาสตร์ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายการแข่งขันทางการค้า หลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐานของกฎหมายการแข่งขันทางการค้า การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม การรวมธุรกิจ เป็นต้น รวมไปถึงหลักสูตรสำหรับบุคลากรภายในของสำนักงาน กขค. เพื่อช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพในการทำงานและการบังคับใช้กฎหมาย
นอกจากนี้ ได้มีการเปิดเผยผลการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้า ในปีงบประมาณ 2566 ที่ผ่านมา โดยมีการรับเรื่องร้องเรียนจำนวนทั้งสิ้นจำนวน 46 เรื่อง 1.จำแนกตามประเภทธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Platform) จำนวน 10 เรื่อง ธุรกิจบริการอื่น ๆ และแฟรนไชส์ จำนวน 22 เรื่อง ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง 9 เรื่อง ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค จำนวน 1 เรื่อง และธุรกิจพลังงาน จำนวน 1 เรื่อง 2. จำแนกตามพฤติกรรม ได้แก่ การใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบ (มาตรา 50) จำนวน 2 เรื่อง การตกลงร่วมกันในตลาดเดียวกัน (มาตรา 54) จำนวน 3 เรื่อง การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม (มาตรา 57) จำนวน 19 เรื่อง
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องร้องเรียนที่เข้าข่ายการกระทำความผิดในหลายมาตรา ได้แก่ การใช้อำนาจเหนือตลาดและการตกลงร่วมกันในตลาดเดียวกัน จำนวน 1 เรื่อง การใช้อำนาจเหนือตลาด การตกลงร่วมกันในตลาดเดียวกันและไม่ใช่ตลาดเดียวกัน จำนวน 1 เรื่อง การใช้อำนาจเหนือตลาดและการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม จำนวน 2 เรื่อง การใช้อำนาจเหนือตลาด การตกลงร่วมกันในตลาดเดียวกันและการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม จำนวน 1 เรื่อง การขอคุ้มครองชั่วคราว (มาตรา 60) จำนวน 1 เรื่อง และเรื่องที่ไม่รับเป็นเรื่องร้องเรียน จำนวน 16 เรื่อง ในด้านการลงโทษ มีการกำหนดโทษปรับทางปกครอง จำนวน 25 คำสั่ง ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย
ในด้านการรวมธุรกิจ สำนักงาน กขค. ได้รับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการรวมธุรกิจ จำนวนรวมทั้งสิ้น 28 เรื่อง แบ่งเป็น 1.การแจ้งผลการรวมธุรกิจ จำนวน 26 เรื่อง จำแนกตามประเภทธุรกิจได้ ดังนี้ ธุรกิจการเงิน จำนวน 5 เรื่อง ธุรกิจบริการ จำนวน 4 เรื่อง สินค้าอุตสาหกรรม จำนวน 12 เรื่อง สินค้าอุปโภคบริโภค จำนวน 1 เรื่อง และอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง จำนวน 4 เรื่อง รวมมูลค่าการรวมธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม เป็นจำนวนกว่า 316,128 ล้านบาท และ 2. การขออนุญาตรวมธุรกิจ จำนวน 2 เรื่อง จำแนกตามประเภทธุรกิจได้ ดังนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมบริการ จำนวน 1 เรื่อง และสินค้าอุตสาหกรรม จำนวน 1 เรื่อง รวมมูลค่าการรวมธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม เป็นจำนวนกว่า 75,946 ล้านบาท